top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 เคล็ดลับในการสร้างนิสัยที่ดีของคุณให้สำเร็จ

อุปนิสัยที่ดี เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุข และ ประสบความสำเร็จ เราสามารถใช้หลักการทางจิตวิทยาชื่อว่า Cognitive Behavior Theory (CBT) เพื่อทำให้เราคงอุปนิสัย หรือ เปลี่ยนแปลงอุปนิสัยของเราให้สำเร็จได้

บ่อยครั้งที่เราดำเนินชีวิตแบบ “ออโตไพลอท (autopilot)” และได้ผลลัพธ์แบบเดิมๆ เราอยากปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงชีวิต อยากจะเลิกอุปนิสัยที่เราไม่ชอบ ทุกๆ ช่วงปีใหม่ หรือวันเกิด ก็จะตั้งเป้าหมายที่เราอยากปรับปรุงให้สำเร็จ

เรารู้ว่าอุปนิสัยที่ดีจะช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จได้ การมีระเบียบวินัยกับตัวเอง การลงมือทำสม่ำเสมอ เป็นอุปนิสัยที่ดี ที่ใครๆ ก็อยากมี แต่ดูเหมือนมันยากที่จะสร้าง และต่อให้เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไรในการตั้งเป้าหมาย เมื่อเวลาผ่านไป เราก็มักจะกลับมาใช้ชีวิตในแบบที่เราเคยชินแบบเดิม

เอมี่ มอร์ริน (Amy Morin) นักจิตยาชาวอเมริกัน ได้แนะนำเคล็บลับ 3 ข้อในการที่จะคงอุปนิสัยที่เราต้องการ และละเลิกอุปนิสัยที่เราไม่ชอบให้สำเร็จได้ ดังต่อไปนี้

1. วางแผนลดข้ออ้าง

หลายครั้งที่เราไม่ได้ทำสิ่งที่เราตั้งใจไว้ และมีข้ออ้างมากมาย เช่น เราวางแผนว่าเราจะจดบันทึกทุกคืนก่อนนอน แต่ว่า เรามีข้อแก้ตัวว่า เราไม่อยากลุกขึ้นไปหยิบสมุดกับปากกา หรือ เราตั้งใจว่าเราจะออกกำลังกายทุกเช้า แต่เราไม่ได้ทำและมีข้อแก้ตัวว่า วิดีโอโยคะอันนี้น่าเบื่อเกินไป วิธีแก้ไข ข้ออ้างนี้ก็คือ การวางแผนล่วงหน้า

ให้เราเอาสมุดบันทึกและปากกา วางไว้ข้างเตียง เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบมันขึ้นมาเขียน หรือเลือกวิดีโอที่เราต้องการออกกำลังกายตาม พร้อมอุปกรณ์วางเตรียมพร้อมไว้ สำหรับออกกำลังกายในตอนเช้า

2. ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่จะทำให้เราคงอุปนิสัยที่เราไม่ชอบ

ถ้าเราต้องการที่จะเลิกนิสัยที่ไม่ดีที่เราไม่ชอบ เช่น เราไม่ชอบที่เราแสดงอารมณ์โกรธ และส่งผลเสียกับความสัมพันธ์กับคนที่เรารัก เราสามารถทำได้โดยทุกครั้งที่เรารู้สึกโกรธ ให้เราเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปทำอย่างอื่น ไม่ตอบสนองกับอารมณ์ของตัวเองที่เกิดขึ้น อาจจะทำโดยการ ออกไปเดินเล่น นับ 1 - 10 หรือสูดลมหายใจเข้าลึกๆ เมื่อไรก็ตามที่อารมณ์โกรธของเราหายไป ก็ใช้สติในการหาวิธีการแก้ไขกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ถ้าเราอยากที่จะเลิกเล่น social media แบบไร้จุดมุ่งหมาย เราสามารถทำได้โดยเอามือถือไปวางไว้ไกลตัว เช่น ถ้าเรามักเล่นตอนเข้าห้องน้ำนานๆ ก็ให้วางหนังสือไว้แทน และไม่เอามือถือเข้าไป หรือเรามักเล่น social media ก่อนเข้านอน และทำให้ต้องนอนดึก ก็หลีกเลี่ยงโดยเอามันวางไว้นอกห้องนอน เป็นต้น

3. หาเหตุผลที่มีความสำคัญที่เราจะต้องสร้างอุปนิสัยนั้นๆ

หากเราขับรถไปห้างสรรพสินค้าเพื่อที่จะไปเดินเล่น แต่คนเยอะมากไม่มีที่จอดรถเลย เราก็คงไม่พยายามต่อไป แล้วเลี้ยวรถกลับ หรือไปทำอย่างอื่น ในทางกลับกัน ถ้าเรากำลังขับรถไปโรงพยาบาล เพราะลูกเราประสบอุบัติเหตุและต้องการการรักษาด่วน เมื่อเราไปถึงโรงพยาบาลไม่มีที่จอดรถ เราก็จะต้องพยายามที่จะส่งลูกเราไปถึงมือหมอ เพื่อให้ได้รับการรักษาก่อน และพยายามที่จะมาจัดการเรื่องการจอดรถในภายหลัง

จากตัวอย่างที่ยก จะเห็นว่า การไปเดินเล่นในห้าง กับ การพาลูกไปให้หมอรักษา มีความสำคัญแตกต่างกันมาก และเราจะทำ ไม่ล้มเลิก กับสิ่งที่สำคัญกับเรา

การสร้างอุปนิสัยก็เช่นกัน ถ้าอุปนิสัยนั้นสำคัญกับเรา เราก็จะไม่ล้มเลิก และทำมันให้ดีขึ้น จนประสบความสำเร็จ ดังนั้น การเขียนเหตุผล เป็นข้อๆ ว่า อุปนิสัยนี้สำคัญกับเราอย่างไร และอ่านมันเมื่อเรารู้สึกเหนื่อยท้อ หรืออยากล้มเลิก จะช่วยให้เราคงอุปนิสัยที่เราต้องการสร้างไว้ได้

ตามหลักการของ Cognitive Behavior Theory (CBT) ได้กล่าวไว้ว่า ความต้องการที่จะเปลี่ยนอุปนิสัย หรือ สร้างอุปนิสัย (motivation) เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น เหตุผลที่มีความสำคัญคือ motivation ที่สำคัญนั่นเอง

อย่างไรก็ดี หากเราหลงลืมที่จะทำ หรือทำไม่ได้ในบางครั้งก็อย่าตีความว่ามันคือความล้มเหลว แต่เรียนรู้ว่าเหตุผลอะไรที่เราไม่สามารถทำได้ และปรับปรุงวิธีการ

นอกจากนี้ การให้รางวัลตัวเอง เมื่อทำสำเร็จ ยังเป็นการสร้าง motivation เล็กๆ ให้กับตัวเรา เช่นเดียวกับที่ได้อธิบายไว้ด้วยหลักการ CBT อีกด้วยค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : อังคณา เกิดทองมี

ศึกษาด้านศิลปศาศตรมหาบัณฑิต (M.A.) สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (B.Eng.) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยศิลปากร, และ Diploma of International E-Business, Hove College, Brighton, UK

มีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งวิศวกรในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขั้นนำของโลกมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทด้าน Data Science และเขียนบทความด้านจิตวิทยาให้กับบริษัท iStrong

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page