3 เหตุผลที่คุณควรให้ลูกได้เผชิญกับความลำบาก
เมื่อพูดถึงคำว่า “ความลำบาก” หลายคนก็คงอยากจะเบือนหน้าหนี โดยเฉพาะคนที่เคยผ่านชีวิตที่ลำบากมาก่อนก็คงจะไม่ชอบมันเลย พ่อแม่หลายคนจึงมีความตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกไม่ให้ลำบากซึ่งถือว่าเป็นเจตนาดีที่มาจากความรักของพ่อแม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีพ่อแม่หลายคนที่ถึงกับปกป้องลูกจากความลำบากด้วยการทำให้ลูกทุกอย่าง หรือไม่ว่าลูกต้องการอะไรก็จะต้องไปจัดหามาให้ลูกจนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วความลำบากมีคุณค่าต่อมนุษย์มากพอสมควร ในบทความนี้จะชวนให้พ่อแม่ทุกคนหันมาทำความเข้าใจและเลือกมุมมองใหม่ให้กับตัวเอง เพื่อจะได้เป็นพ่อแม่ที่สามารถเลี้ยงลูกให้เป็นคนที่มีความสุขอย่างยั่งยืนและห่างไกลจากภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจ
เหตุผลที่คุณควรให้ลูกได้เผชิญกับความลำบาก
1. เพราะความลำบากคือส่วนหนึ่งในความจริงของชีวิต
ไม่ว่ามนุษย์จะเกลียดกลัวความลำบากมากแค่ไหน แต่ความจริงหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ทุกคนล้วนต้องผ่านความลำบากในชีวิตไม่มากก็น้อย แม้บางคนอาจจะเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย แต่ชีวิตมันก็ไม่ได้มีอะไรที่แน่นอน เราจึงไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตได้เลยว่าเราจะต้องเจอกับสถานการณ์อะไรบ้างในอนาคต ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องเจอกับความลำบากไม่ได้ดั่งใจ เช่น ไฟฟ้าดับ ประสบอุบัติเหตุ อกหัก ฯลฯ หากไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าชีวิตจะต้องผ่านความลำบากก็อาจจะตั้งหลักไม่ทันและเกิดความเครียดเฉียบพลันขึ้นมาได้
2. เพราะความลำบากเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด “resilience”
แม้ว่าหลายคนจะมี resilience อยู่ในตัวเอง แต่เงื่อนไขในการปรากฏขึ้นของ resilience นั้นจะต้องมีความลำบาก (adversity) เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เพราะหากไม่เคยต้องเผชิญกับความลำบากก็จะไม่มีแรงบีบเค้น เมื่อไม่มีแรงบีบเค้นก็จะไม่เกิดกระบวนการฟื้นตัว (bouncing back) ซึ่งก็คือ resilience นั่นเอง ดังนั้น การที่คุณฝึกให้ลูกได้เผชิญกับความลำบากด้วยตัวของเขาเอง โดยมีคุณเป็นผู้ให้การสนับสนุนกำลังใจอยู่เบื้องหลังจนลูกสามารถผ่านความลำบากในแต่ละครั้งไปได้ ก็จะเป็นการเอื้อให้องค์ประกอบของ resilience เกิดขึ้นในตัวลูก ได้แก่ I have, I can, I am และเมื่อลูกของคุณเป็นคนที่มี resilience แล้ว เขาก็จะสามารถฟันฝ่าความลำบากครั้งต่อไปได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง และจะกลายเป็นคนที่ไม่กลัวความลำบาก เพราะเขาได้เรียนรู้แล้วว่าความลำบากได้นำมาซึ่งการเติบโตภายใน คล้ายกับมุมมองทางศาสนาพุทธที่กล่าวว่า “No mud, no lotus”
3. เพราะการผ่านความลำบากไปได้ด้วยตัวเองจะทำให้เกิด “Self-efficacy”
ต่อเนื่องกับเรื่องของ resilience คนที่เคยผ่านความยากลำบากมาได้มักจะเกิดความรู้สึกว่า “ฉันก็ทำได้นี่นา” บ่อยครั้งที่พ่อแม่กลัวว่าลูกจะลำบากจึงทำให้ลูกไปหมดทุกอย่างหรือช่วยแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง การทำเช่นนี้ของพ่อแม่นั้นเข้าใจได้ไม่ยากว่ามันมาจากความรักที่มีต่อลูก แต่การทำเช่นนี้ก็มีผลเสียอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นก็คือมันทำให้ลูกไม่เกิดประสบการณ์ว่า “ฉันทำได้” ซึ่งก็จะทำให้ลูกไม่เกิดการรับรู้ในความสามารถของตัวเอง (self-efficacy) รวมไปถึงลูกไม่มีโอกาสในการดึงศักยภาพภายในของตัวเองออกมาใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งอาจจะทำให้ลูกมีมุมมองต่อตัวเองว่า “ฉันไม่มีความสามารถ” ในทางกลับกัน การที่ลูกได้เผชิญกับความลำบากด้วยตัวเองนั้น เขาจะต้องพยายามงัดเอาทักษะและศักยภาพของตนเองออกมาใช้ และเมื่อเขาสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ตัวเองสามารถผ่านความลำบากไปได้ เขาก็เกิด self-efficacy ขึ้นมา
จะฝึกลูกให้เผชิญกับความลำบากได้อย่างไร
1. เรียนรู้ที่จะสบายๆ กับสถานการณ์ที่ไม่ได้สบาย
ข้อความนี้แปลมาจากบทความต้นฉบับที่กล่าวว่า “Learn how to be comfortable with being uncomfortable” ก็คือ เรียนรู้ที่จะสบาย ๆ กับสถานการณ์ที่ไม่ได้สบาย แทนที่จะมองว่าความทุกข์หรือความลำบากมันคือภัยคุกคามที่เราต้องผลักไสหลีกเลี่ยงมัน ก็เรียนรู้ที่จะสบาย ๆ กับมันและเผชิญกับมันด้วยใจที่สงบจนกว่าจะผ่านมันไป ซึ่งทั้งหมดนี้ พ่อแม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกได้ เพราะเมื่อลูกมองเห็นว่าพ่อแม่ของตนสามารถผ่านพ้นความลำบากมาได้ด้วยใจที่สงบ ลูกก็จะไม่กลัวความลำบาก
2. ฝึกเป็นพ่อแม่ที่มีสติ
การไม่มีสติจะทำให้คนเราทำอะไรไปตามความเคยชิน หากพ่อแม่เคยชินกับความหวาดกลัว วิตกกังวล รู้สึกผิดง่าย การไม่มีสติก็จะทำให้พ่อแม่เผลอมีความรู้สึกแบบนั้นขึ้นมาได้ง่ายและไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวว่าตนเองมีความรู้สึกแบบไหนอยู่ก็มักจะเผลอทำพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้สึกเหล่านั้นได้ง่ายตามไปด้วย ในทางกลับกัน การที่พ่อแม่มีสติอยู่เสมอก็จะช่วยให้เกิดการคิดไตร่ตรองทุกครั้งก่อนโดยไม่เผลอทำอะไรไปอย่างไม่ตั้งใจ
3. ทำความรู้จักเข้าใจตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
บ่อยครั้งที่ความกลัวว่าลูกจะลำบากนั้นมาจากประสบการณ์ของพ่อแม่เอง เช่น ตอนเด็ก ๆ ตัวเองไม่เคยมีของเล่นเลย พอโตขึ้นมาเป็นพ่อคนแล้วก็เลยซื้อของเล่นให้ลูกเยอะมาก ไม่ว่าลูกอยากได้อะไรก็ซื้อให้ลูกทุกอย่าง หากไม่ทันระมัดระวัง พ่อแม่ก็จะเผลอใช้ลูกเป็นตัวแทนในวัยเด็กของตนเองเพื่อลบล้างความรู้สึกแย่ ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประสบการณ์ของตัวเอง แต่พ่อแม่ที่รู้จักเข้าใจตนเองเป็นอย่างดีจะแยกแยะได้ว่าลูกมีชีวิตเป็นของตนเอง มีธรรมชาติเป็นของเขาเอง และจะอนุญาตให้ลูกได้เผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นเพียงลมใต้ปีกเท่านั้น ไม่ใช่พยายามจะเป็นปีกให้ลูกเพราะคิดว่าลูกอ่อนแอเกินกว่าจะบินได้ด้วยตัวเอง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] หมอแพมชวนอ่าน. Retrieved from. https://www.facebook.com/photo?fbid=204726781952223&set=a.174071831684385
[2] How Is Adversity and Personal Growth Linked? Retrieved from. https://www.psychreg.org/adversity-personal-growth/
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG
Comments