top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 เทคนิคจิตวิทยา สื่อสารอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ



“การสื่อสาร” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อคนเรา เพราะเป็นสื่อกลางที่เราใช้ในการเข้าสังคม หรือการทำงาน ติดต่อกับผู้คน และการสื่อสารนี่ละค่ะที่บ่อยครั้งก็ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ เพราะเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร เช่น หวังดี แต่ใช้คำไม่เหมาะสม ใช้น้ำเสียงไม่โอเค คนฟังก็สามารถตีความการสื่อสารผิดพลาดไปจากที่เราต้องการได้ แล้วก็เกิดปัญหาตามมา อย่างเบา ๆ ก็แค่เคืองกัน ผิดใจกัน ทะเลาะกัน แต่ถ้าหนักหนาก็ดังเช่นในข่าวที่เราได้ยิน ได้ฟังกันทุกวัน ที่คนเราสามารถฆ่ากันตายได้เพียงแค่พูดผิดหูกัน ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้เทคนิคทางจิตวิทยาพอสมควรทีเดียวค่ะเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ซึ่งในประเด็นของการสื่อสารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพนั้น Ruchi Sinha ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาการสื่อสาร ได้เคยกล่าวไว้ในเวที Ted Talk ว่า การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเรา เพราะเราต้องใช้การสื่อสารในการเสนอผลงาน ในการขอเพิ่มเงินเดือน ในการรักษาสิทธิหรือผลประโยชน์ของตัวเราเอง และที่สำคัญก็คือ เพื่อสื่อความต้องการของเราให้ผู้อื่นรับรู้ ซึ่งการสื่อสารที่ดีจะทำให้เราได้ในสิ่งที่เราต้องการ แต่การสื่อสารที่ไม่ดี ก็สามารถให้ผลตรงกันข้ามไปเลยดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น เพื่อการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพ ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเทคนิคจิตวิทยาในการสื่อสารจาก Sinha มาฝากัน 3 ข้อค่ะ รับรองเลยว่าถ้านำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การสื่อสารของเราจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน 3 เทคนิคที่ว่ามีอะไรกันบ้างนั้น มาอ่านกันเลยค่ะ


1. ก่อนสื่อสารในเวทีใหญ่ให้ทำการบ้านมาก่อน

เคยสังเกตไหมคะ ว่า ในการสื่อสารที่สำคัญที่สุด เช่น เสนองานในที่ประชุมใหญ่ คุยกับผู้บริหาร ขอแฟนแต่งงาน พูดคุยกับพ่อ แม่แฟนครั้งแรก เรามักจะเจอกับความผิดพลาดบ่อยครั้งกว่าการสื่อสารทั่วไปในชีวิตประจำวัน นักจิตวิทยาการสื่อสารให้ข้อเท็จจริงว่า จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะการสื่อสารไหน ๆ ใหญ่ หรือเล็ก เราก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดพอ ๆ กับโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ แต่ที่เรารู้สึกว่าในการสื่อสารครั้งสำคัญโอกาสผิดพลาดมีมากกว่าเพราะเราประหม่า หรือกังวล และคาดหวังกับผลลัพธ์ของการสื่อสารมากกว่านั่นเอง ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารในเวทีใหญ่ หรือการสื่อสารที่สำคัญมีโอกาสประสบความสำเร็จ Sinha ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาการสื่อสารได้แนะนำว่า ให้เราทำการบ้านมาก่อน โดยการหาข้อมูลว่าคู่สนทนาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีทัศนคติต่อโลกอย่างไร มีนิสัยใจคออย่างไร สิ่งใดสำคัญกับเขาที่สุด หรือเวทีใหญ่ที่เราต้องขึ้นพูด ขึ้นสื่อสารนั้นผู้ชมคือใคร มีจุดประสงค์อย่างไร เพื่อให้เราเลือกวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม รวมไปถึงเลือกการแต่งตัว วิธีการแสดงออกที่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่เราต้องการสื่อสารได้ด้วย


2. เตรียมใจให้ดีในการสื่อสาร

เหตุผลที่เราควรเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมสำหรับการสื่อสาร ก็เพราะในทุก ๆ การสื่อสารเราไม่ได้เพียงแลกเปลี่ยนเนื้อหาของสารที่เราสื่อออกไปเท่านั้น แต่เรายังส่งผ่านความคิด ความรู้สึก ที่นำมาซึ่งทัศนคติต่อคู่สื่อสาร นั่นหมายความว่า หากเราไม่มีการเตรียมตัว เตรียมใจรับแรงปะทะทางความรู้สึกในการสื่อสาร แล้วผลลัพธ์ของการสื่อสารออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เราก็อาจถูกเหวี่ยง ถูกวีน ถูกทำร้ายความรู้สึกจากผู้ที่เราสื่อสารด้วย แล้วคนนั้นก็จะกลายเป็นศัตรู เป็น Toxic People ของเราไปอีกนาน ซึ่งจะทำให้เราเสียความมั่นใจในตนเอง นำไปสู่ Low Self-esteem และเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมใจของเราให้พร้อมรับกับแรงกระแทกทางความรู้สึกเผื่อเอาไว้ในกรณีที่การสื่อสารไม่ประสบความสำเร็จเอาไว้ด้วย เพื่อไม่ให้สภาพจิตใจของเราบอบช้ำจนเกินไปนั่นเองค่ะ


3. เอาใจเขามาใส่ใจเรา

การ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Empathy” มีความหมายตามนิยามของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American psychological association ; APA) ว่า ความเข้าใจบุคคลอื่นผ่านมุมมองประสบการณ์ของผู้นั้น ไม่ใช่ประสบการณ์ของเรา โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือ Empathy นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้การสื่อสารของเรามีเสน่ห์มาก เพราะเมื่อเรา “เข้าใจ” ผู้ที่เราต้องการสื่อสารด้วยอย่างแท้จริง เราจะรับฟังเขา โดยไม่ได้รับฟังแต่เพียงสิ่งที่เขาพูด แต่ยังฟังไปถึงความรู้สึก ไม่ตัดสินเขาจากสิ่งที่เขาทำ ทำให้เราสามารถสื่อความคิด ความรู้สึกถึงเขาได้โดยลดอคติในการสื่อสาร เมื่ออคติน้อยลง เราจะสื่อสารด้วยความเป็นตัวเรา และความเป็นตัวเขาอย่างแท้จริง ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น โอกาสที่การสื่อสารจะประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังก็มีมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าการสื่อสารไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ยังจบการสื่อสารด้วยความเข้าใจ ไม่สร้างศัตรู และยังกลับมาคุยกันอย่างมิตรได้เสมอ


การสื่อสาร” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ให้ความหมายไว้ว่า วิธีการนำถ้อยคำ ข้อความ หรือหนังสือ จากบุคคลหนึ่งหรือสถานที่หนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งหรืออีกสถานที่หนึ่ง นั่นหมายความว่าการสื่อสารเป็นตัวกลางสำคัญที่จะส่งสิ่งที่เราต้องการให้คนอื่นรับรู้ และจะดีที่สุดถ้าการสื่อสารทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ดังนั้นจึงหวังว่า 3 เทคนิคจิตวิทยาการสื่อสารข้างต้นจะช่วยเป็นแนวทางให้คุณนำไปปรับใช้ให้การสื่อสารราบรื่นและประสบความสำเร็จดังที่คาดหวังนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

[1] Julian Treasure. (June 2014). How to speak so that people want to listen. [On;ine].From https://shorturl.asia/87ox6

[2] Ruchi Sinha. (15 November 2021). 3 steps to getting what you want in a negotiation. [On;ine].From https://shorturl.asia/VfM5d

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page