top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีฝึกหายใจที่จะช่วยให้ลมหายใจของคุณไม่ได้เป็นเพียงแค่อากาศที่ผ่านเข้าออกร่างกาย


หากผู้เขียนจะถามคุณว่า “ณ ตอนนี้คุณทราบหรือไม่ว่าคุณกำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่?” ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะเพิ่งรู้คำตอบของตัวเองหลังจากที่เห็นคำถามนี้แล้วลองหยุดเพื่อสังเกตลมหายใจของตัวเองดู แต่โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังหายใจอยู่ในลักษณะไหน เช่น หายใจสั้น หายใจยาว หายใจถี่ ยกเว้นในเวลาที่เป็นหวัดคัดจมูกก็อาจจะทำให้จิตใจมาอยู่กับการหายใจมากขึ้นหน่อยเพราะว่าหายใจติดขัด ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากจะชวนให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจกับลมหายใจของตัวเองมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาที่เจ็บป่วยไม่สบาย รวมถึงจะหยิบยกประโยชน์และตัวอย่างของการฝึกหายใจแบบง่าย ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้คุณมีสุขภาวะที่ดีมากยิ่งขึ้น


ลักษณะของลมหายใจเกี่ยวข้องยังไงกับสุขภาวะ?

การหายใจนั้นไม่ได้ใช้แค่ปอดเพื่อสูดอากาศเข้าไปในร่างกายแต่ยังต้องอาศัยระบบร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย  นอกจากนั้น การหายใจก็ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ช่วยนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายแต่มันยังมีผลต่อการทำงานของระบบร่างกายที่รวมไปถึงระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มันส่งผลต่อปฏิกิริยาที่เรียกว่า “สู้หรือหนี (fight or flight)” ซึ่งมันมีความสัมพันธ์กับความเครียดหรือในอีกแง่ความเครียดก็มีผลต่อมัน ซึ่งในเวลาที่คนเรามีความเครียดเกิดขึ้นระบบประสาทอัตโนมัติก็จะมีการทำงานที่แตกต่างไปจากช่วงเวลาปกติ โดยหนึ่งในนั้นก็คือมันจะทำให้คนเราหายใจสั้นและถี่รวมถึงหายใจโดยใช้ทรวงอก (การหายใจที่ดีกว่าคือการหายใจด้วยท้อง) หรือบางครั้งก็อาจจะเผลอกลั้นหายใจโดยไม่รู้ตัวทำให้ต้องถอนหายใจเป็นพัก ๆ ส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ 


ประโยชน์ของการฝึกหายใจ (breathing exercises)

- การสูดหายใจลึก ๆ ช่วยลดความเครียดลงได้ เพราะการสูดหายใจลึก ๆ จะไปส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติให้คลายลงจึงทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายตามไปด้วย นอกจากนั้นมันยังช่วยให้รู้สึกปลดปล่อยเวลาที่มีความเครียดเกิดขึ้น ช่วยบรรเทาอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ทำให้อารมณ์เดือดหรือเวลาที่มีความคิดลบเกิดขึ้น

- การสูดหายใจลึก ๆ ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลง เวลาที่มีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายมักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองก็คือหัวใจเต้นไวขึ้นส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งหากปล่อยไปนาน ๆ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ โดยผลที่ร้ายแรงที่สุดก็คือเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด (Broken Heart Syndrome หรือ Stress Cardiomyopathy) อันเป็นผลมาจากความเครียดจากโรคทางกายหรือความเครียดด้านจิตใจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัวและอ่อนกำลังลงชั่วคราว หากปล่อยเอาไว้ก็อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้ การสูดหายใจลึก ๆ โดยเฉพาะเวลาที่เครียดจะสามารถช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและลดความดันโลหิตลงซึ่งถือเป็นการดูแลหัวใจได้ดีในอีกรูปแบบหนึ่ง

- การสูดหายใจลึก ๆ ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ในสภาพสังคมที่เร่งรีบมักทำให้หลายคนยากที่ผ่อนคลายในช่วงก่อนนอนซึ่งทำให้มีปัญหานอนหลับยาก ส่งผลให้นอนหลับไม่เพียงพอนำไปสู่ความเครียดหรือรู้สึกอ่อนเพลียไม่สดชื่น การสูดหายใจลึก ๆ ในช่วงก่อนนอนจะช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีมากยิ่งขึ้น


3 วิธีฝึกหายใจที่แนะนำ

1. Box breathing หายใจเข้าช้า ๆ และนับในใจถึง 4 โดยอาจจะเอามือวางไว้ที่หน้าท้องแล้วหายใจให้ท้องพองเหมือนบอลลูน จากนั้นกลั้นลมหายใจเอาไว้นับถึง 4 อีกครั้ง หายใจออกช้า ๆ ผ่านทางปาก กลั้นหายใจเอาไว้นับถึง 4 และทำซ้ำทั้งหมดอีกครั้ง

2. หายใจแบบ 4-7-8 หายใจเข้าช้า ๆ ผ่านทางจมูกและนับในใจถึง 4 จากนั้นกลั้นลมหายใจเอาไว้และนับถึง 7 หายใจออกช้า ๆ ผ่านทางปากและนับถึง 8 โดยอาจจะทำให้มีเสียง “whoosh” เพื่อให้รู้สึกว่าได้ปลดปล่อยลมออกมา และทำซ้ำทั้งหมดอีกครั้ง

3. หายใจแบบสลับรูจมูก ใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดไปเบา ๆ เพื่อปิดรูจมูกขวาโดยงอนิ้วชี้และนิ้วกลางเข้าหาฝ่ามือ หายใจเข้าช้า ๆ ผ่านทางรูจมูกซ้ายจากนั้นเอานิ้วนางข้างขวาปิดรูจมูกซ้ายแล้วปล่อยนิ้วหัวแม่มือที่จมูกขวา หายใจช้า ๆ ผ่านทางรูจมูกขวา และทำสลับกันไปเรื่อย ๆ 


การฝึกหายใจสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำมาก่อนอาจจะพบว่ามีอาการมึนหัวเกิดขึ้นบ้างซึ่งเป็นเรื่องปกติ หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นก็อาจจะไม่ต้องทำซ้ำหลายรอบในช่วงที่เริ่มต้นฝึกใหม่ ๆ ใช้วิธีฝึกหายใจวันละเล็กละน้อยจนเริ่มเกิดความเคยชินแล้วจึงค่อยเพิ่มรอบในการฝึกให้ใจให้มากขึ้น เช่น ช่วงแรกอาจจะทำวันละ 4 รอบต่อวัน เมื่อรู้สึกเข้าที่เข้าทางแล้วจึงค่อยเพิ่มรอบตามจำนวนที่คุณต้องการ 

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] It's not just inspiration – careful breathing can help your health. Retrieved from https://www.heart.org/en/news/2023/07/07/its-not-just-inspiration-careful-breathing-can-help-your-health

[2] ฝึกหายใจคลายเครียด โดย กรมสุขภาพจิต. Retrieved from https://chatbotjaidee.com/learning/breathing-relieves-stress

[4] Broken Heart Syndrome เครียดเกินไปกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง. Retrieved from https://www.bangkokhearthospital.com/content/broken-heart-syndrome

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comentarios

No se pudieron cargar los comentarios
Parece que hubo un problema técnico. Intenta volver a conectarte o actualiza la página.
facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page