top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

10 เทคนิคอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าในสถานการณ์ COVID - 19



ในสถานการณ์ที่โรค COVID -19 ของบ้านเรายังคงรุนแรง และทำให้คนที่เจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุในช่วงนี้มีความลำบากในการรับการรักษาพยาบาล ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่สถานการณ์ COVID – 19 ยิ่งไปกระตุ้นให้โรคซึมเศร้าอาการแย่ลง เพราะเต็มไปด้วยปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการซึมเศร้า เป็นหนักมากขึ้น เช่น ข่าวหดหู่ ความกังวล ความเครียดในการใช้ชีวิต เป็นต้น ซึ่งนักจิตวิทยาหลายท่าน ได้แนะนำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าในช่วงนี้ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวโดยเด็ดขาด ควรให้มีคนอยู่ร่วมบ้านด้วยเพื่อช่วยดูแล และสร้างเสริมกำลังใจในการใช้ชีวิตซึ่งในวันนี้เราขอนำข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ทางจิตวิทยามาฝากในการอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าในสถานการณ์ COVID - 19 10 เทคนิคด้วยกัน มาเริ่มกันเลยค่ะ


1. เป็นผู้ฟังที่ดี


วิธีการเยียวยาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเบื้องต้นที่ดีและได้ผลระยะยาวในหลาย ๆ ด้าน คือ การเป็นผู้ฟังที่ดีนะคะ ในเมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเขามีความในใจเป็นหมื่นล้านคำ เราก็ขอแบ่งปันเรื่องราวหนักใจของเขา ด้วยการรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน ไม่ตัดบท หรือไม่คิดแทน ซึ่งการรับฟังอย่างตั้งใจนี่ละค่ะจะเป็นก้าวแรกในการอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าอย่างราบรื่น และสามารถให้การช่วยเหลือเขาได้อย่างถูกทาง


2. ให้กำลังใจ โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “สู้ ๆ”


เวลาเราเห็นเพื่อนใน Facebook โพสต์สเตตัสในเชิงท้อแท้ เศร้า หมดกำลังใจ ข้อความยอดนิยมที่เรามักจะพิมพ์กันก็คือ “สู้ ๆ” ซึ่งคำว่าสู้ ๆ เหมือนจะเป็นการให้กำลังใจ แต่ไม่ได้ช่วยให้คนที่กำลังซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นเลยค่ะ เหมือนการอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าในบ้าน หากเขามาเปิดใจ เล่าเรื่องราวความทุกข์ใจให้เราฟัง แล้วเราตบบ่าบอกเขาว่า “สู้ ๆ นะ” เขาคงรู้สึกเหมือนถูกทิ้งให้เคว้งคว้าง เพราะคนฟังตัดบทด้วยคำว่า “สู้ ๆ” แล้ว ดังนั้น ขอเปลี่ยนคำว่าสู้ ๆ เป็นการหาทางออกร่วมกัน เช่น เล่ามาได้เลย เราช่วยอะไรได้บ้าง เราสามารถทำอะไรให้มันดีขึ้นบ้าง โดยคำพูดเหล่านี้ นอกจากจะช่วยเหลือกำลังใจแล้ว เรายังได้ช่วยให้เขาออกมาจากปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยค่ะ


3.ทำความเข้าใจอาการของโรคที่เขาเป็นอยู่ ไปพร้อม ๆ กับประเมินความเข้าใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วย


โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างมาก ทั้งตัวผู้ป่ายเอง และผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วย ไม่ใช่ว่าเขาจะใช้ชีวิตปกติไม่ได้ แต่ก็ต้องคอยระวังปัจจัยเสี่ยงที่ไปกระตุ้นให้อาการของโรคแย่ลง เช่น คำพูด หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันกับตัวผู้ป่าย หรืออาหารการกินบ้างอย่าง ก็ต้องระวัง ยิ่งในสถานการณ์ COVID – 19 เช่นนี้ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษเลยค่ะ เพราะฉะนั้น ในการอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าควรทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของโรค และปัจจัยเสี่ยงให้ดีค่ะ ซึ่งสามารถหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้จากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา หรือจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้อย่างเช่นกรมสุขภาพจิต


4. สร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดี


สำหรับเทคนิคข้อนี้ ถือว่าเป็นพื้นฐานที่นักจิตวิทยาแนะนำในการอยู่ร่วมกันเลยค่ะ เพราะการสร้างสัมพันธภาพที่ดี จะทำให้เราสบายใจที่จะอยู่ด้วยกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ทำให้บ้านน่าอยู่ และที่สำคัญ เมื่อผู้ป่วยซึมเศร้าเกิดปัญหา เขาก็กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากเรา เพราะไว้ใจ และเชื่อใจว่าเราจะไม่ตัดสินเขา หรือมองเขาในแง่ลบค่ะ



5. อยู่ด้วยกันด้วยความเมตตา


ความเมตตา มีความหมายว่า ความรัก ความเอ็นดู ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ดังนั้น การอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าด้วยความเมตตา ก็คือ การอยู่ร่วมกับความด้วยความปรารถนาดี ประสงค์ดีไม่เอาความคาดหวังของเราไปใส่ให้เขา หรือไม่ไปคิดแทน เช่น เธอลองนั่งสมาธิดูสิ โรคซึมเศร้าจะได้หาย หรือ ก็เธอคิดมากแบบนี้ไงละ ถึงได้เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งคำพูดเหล่านี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว ยังลดทอนกำลังใจของผู้ป่วย และอาจทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงไปอีกค่ะ


6. ชักชวนผู้ป่วยพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาอยู่เสมอ


ถึงแม้ว่าในสถานการณ์ COVID – 19 จะทำให้การพบจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามีอุปสรรค แต่ปัจจุบันก็ได้มีทั้งแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่ให้คุณ หรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่น ๆ สามารถขอรับคำปรึกษาออนไลน์ได้แล้ว เช่น ที่ไอสตรองของเราเองก็มีบริการให้คำปรึกษาออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเช่นกันนะคะ หรือรับคำปรึกษาจากช่องทางที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เป็นต้นค่ะ


7. ใช้การแลกเปลี่ยน เพื่อเยียวยาจิตใจ


นักจิตวิยาแนะนำว่า การสื่อสารที่ดีต่อใจสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็คือ การใช้วิธีแลกเปลี่ยนความสนใจ เช่น กิจกรรมที่ชอบ ถ้าสถานการณ์ COVID -19 ดีขึ้นจะไปเที่ยวที่ไหนกันดี เป็นต้น ซึ่งการแลกเปลี่ยนความสนใจนี้ สามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดถึงอนาคตของตัวเองมากขึ้น มีการวางแผนในชีวิตมากขึ้น และมีความหวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างมากเลยค่ะ



8.มองโลกในแง่ดี


การมองโลกในแง่ดี ก็คือ การมองหาแง่มุมดี ๆ ของสถานการณ์ที่พบเจออยู่ เช่น ถึงแม้สถานการณ์ COVID – 19 จะทำให้เราออกบ้านไม่ได้ แต่ก็ทำให้เราอยู่ด้วยกันมากขึ้น ได้ดูแลกันมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเรามองโลกในแง่ดี เราจะสามารถแผ่ออร่าของความสดใสให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่อยู่ด้วยกันให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น เห็นข้อดีของสถานการณ์ และสามารถพบเจอแง่มุมดี ๆ ในชีวิตได้มากขึ้นด้วยค่ะ


9.ทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น


ในเมื่อสถานการณ์ COVID – 19 ทำให้เราอยู่บ้านมากขึ้น ดังนั้น เราจึงควรทำให้การอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้ามีคุณค่า โดยการหากิจกรรมทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ทำกับข้าวด้วยกัน ทานอาหารด้วยกัน ดูซีรี่ย์ด้วยกัน เล่นเกมด้วยกัน หรือทำกิจกรรมใดก็ได้ที่ได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เพื่อเพิ่มความสนิมสนม และเสริมสุขภาพจิตทั้งของเราและผู้ป่วยซึมเศร้าให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นค่ะ


10. ผ่อนคลายความเครียดบ้าง


การอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งก็เหมือนกับการอยู่ร่วมกับคนป่วยโรคทางกายที่เราต้องคอยดูแลกัน คอยระวังปัจจัยเสี่ยง เช่น ระวังคำพูด ระวังเรื่องเครียดที่มากระทบจิตใจ ระวังเรื่องอาหารการกิน ซึ่งบางครั้งก็มีบ้างที่ผู้ป่วยเขาจะมีอารมณ์เหวี่ยงวีนใส่เรา ด้วยธรรมชาติของตัวโรคเอง หรือความเครียด ความหงุดหงิดใด ๆ ก็ตาม ต่างก็ทำให้เรารับความเครียดมาอีกต่อหนึ่ง ซึ่งหากสะสมนาน ๆ คงไม่ดีแน่ค่ะ ดังนั้นเราจึงควรผ่อนคลายความเครียดบ้างโดยการหาเวลาอยู่กับตัวเอง เพื่อทำกิจกรรมที่เราชอบบ้าง เพื่อให้มีกำลังกาย กำลังใจในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต่อไปค่ะ


การอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้าในสถานการณ์ปกติก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เราต้องรักษาความรู้สึกของผู้ป่วย และรักษาความรู้สึกของเราเองอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ COVID – 19 ยิ่งต้องอาศัยเทคนิคทางจิตวิทยาในอยู่ร่วมกับคนเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่เสียความรู้สึก ไม่เสียสุขภาพจิตมากขึ้นทั้งผู้ป่วย และเราเอง หากต้องการที่ปรึกษาทางจิตวิทยา iSTRONG พร้อมเคียงข้างเสมอนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : Jomtian Jansomrag. 14 February 2020. เศร้าแล้วไปไหน?: รวมลิสต์ 16 แหล่งพบนักจิตวิทยาทั้งออนไลน์และออฟไลน์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2564 จาก https://jomtianjansomrag.medium.com

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page