10 วิธีพิจารณาใครคือนักจิตบำบัดที่ดี
ในยุคปัจจุบันที่เราเผชิญหน้ากับความเครียดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสุขภาพจิต มีคนจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ดังนั้นบทบาทของนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัด จึงเริ่มมีความสำคัญขึ้นอย่างมาก และแน่นอนว่าศาสตร์ในการรักษาอาการทางจิตก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจพฤติกรรมของตนเองอันมีต้นเหตุมาจากปัญหาทางจิต การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ป่วยแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมา เพื่อให้เขาสามารถค้นพบตัวตน รวมถึงการช่วยให้พวกเขาค้นพบความหมายของการมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่การช่วยให้ความสามารถในการพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ดีไม่สามารถใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งได้ แต่เป็นศิลปะในการผสมผสานในหลายๆ ศาสตร์เพื่อมุ่งประสงค์ให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
แพรได้อ่านบทความจิตวิทยาบทความหนึ่งชื่อว่า “10 ways to spot a good therapist” ซึ่งเขียนโดย ดร. Noam Shpancer เป็นบทความที่แนะนำ 10 วิธีการในการพิจารณานักจิตบำบัดที่ดี ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับคนที่กำลังคิดอยากหานักจิตวิทยา หรือ นักจิตบำบัดมาฝากกันค่ะ
1. การรักษาที่ดีไม่ใช่การเป็นเพื่อนกับผู้ป่วย
บ่อยครั้งที่เรารู้สึกไม่สบายใจ เราอาจจะพูดให้เพื่อนฟังเพื่อที่จะระบายให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่การรักษากับนักจิตวิทยา/นักจิตบำบัดจะแตกต่างจากการพูดคุยกับเพื่อน การรักษาจะมีจุดมุ่งหมาย และมีแผนในการรักษาที่ชัดเจน มีจุดประสงค์และเป้าหมายเพื่อการรักษาให้อาการของเราดีขึ้น มีการติดตามผล ซึ่งแตกต่างกับการระบายปัญหาให้เพื่อนฟัง
2. การบำบัดที่ดีจะอ้างอิงวิธีการจากแหล่งที่เชื่อถือได้
นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดี จะมีหลักฐานผลการรักษาที่ดี กล่าวคือ มีตัวอย่างผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นเมื่อผ่านการรักษาจากนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดท่านนั้น นอกจากนี้ วิธีการรักษาของพวกเขา จะผ่านการตั้งสมมติฐาน และ การทดสอบด้วยหลักการต่างๆ ที่มีทฤษฎี หรืองานวิจัยที่เชื่อถือได้รองรับ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าการรักษาที่ดี คือการผสมผสานหลายศาสตร์ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ซึ่งจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดี จะไม่การันตีว่าคุณจะหายในทันที หรือเปลี่ยนคุณในทันที เนื่องจากการรักษาอาการทางจิตเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ศิลปะในการทำความเข้าใจมนุษย์ ซึ่งไม่ตายตัว และมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
3. การบำบัดที่ดีจะต้องยืนยันในคุณค่าและเกียรติของผู้ป่วย
นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดีจะยืนยันในคุณค่าและเกียรติของผู้ป่วย พวกเขาทราบดีว่าผู้ที่มาทำการรักษาถูกคนรอบตัวตัดสิน และทำให้รู้สึกด้อยคุณค่ามากพอแล้ว พวกเขาจะทำการรักษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการพัฒนาสุขภาพจิต เปรียบเสมือนความสามารถในการขับรถที่จะค่อยๆ พัฒนาขึ้น เมื่อพวกเขามีทักษะมากขึ้น นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดีไม่ใช่คนขับรถ แต่เป็นตัวผู้ป่วยเอง นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดเป็นเพียงผู้สอนและให้แนวทางเท่านั้น
4. การบำบัดที่ดี คือการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง ซื่อสัตย์ และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
อาการทางจิตของผู้ป่วยจะดีขึ้นได้ นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดจำเป็นต้องสื่อสารคำที่ใช้ในการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องและซื่อสัตย์กับผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขาสามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด ในการที่จะได้มาซึ่งอาการเพื่อให้คำปรึกษาอย่างถูกต้องอย่างที่กล่าวมา นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดจะจัดสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าถึงความรู้สึกของพวกเขาได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการให้คำแนะนำที่ถูกต้อง
5. การบำบัดที่ดี เกิดจากเคมีที่เข้ากันได้ระหว่างผู้ป่วยกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดเอง
เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องรู้สึกไว้วางใจและรู้สึกปลอดภัยในการเล่าความรู้สึกของพวกเขา ให้นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดฟัง ดังนั้นหากทั้งสองฝ่ายมีเคมีที่เข้ากัน ก็จะทำให้การบำบัดมีประสิทธิภาพที่ดีเช่นกันด้วย
6. การบำบัดที่ดี คือการสนับสนุนให้เราสามารถดำรงชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวของเราเอง
เนื่องจากการรักษาอาการทางจิตมีจุดมุ่งหมายก็คือ ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ดังนั้นนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดี ควรที่จะสนับสนุนให้ผู้ป่วยพัฒนาความสามารถในการจัดการกับปัญหาในชีวิต และมีความเข้มแข็งทางจิตใจเพื่อให้พวกเขาดำเนินชีวิตของพวกเขาต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดตลอดไป
7. นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดี สนใจประวัติของผู้ป่วย
เนื่องจากประสบการณ์หรือสิ่งที่ผู้ป่วยผ่านมาในชีวิต มีส่วนส่งผลถึงอาการทางจิตในปัจจุบัน ดังนั้นนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดี จะสนใจที่มาที่ไปของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยด้วย
8. นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดี สนใจมุมมองชีวิตของผู้ป่วย
มนุษย์เราตีความเหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและประสบการณ์ของคนคนนั้น ดังนั้นนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดีจะพยายามเข้าใจที่มาที่ไปของการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย สิ่งไหนมีผลทางใจหรือมีความสำคัญกับผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยคนหนึ่งสูญเสียคุณพ่ออย่างกะทันหัน และมีผลกระทบทางใจอย่างมากสำหรับเขา บางคนอาจใช้เวลาในการเยียวยาความเศร้าเพียงระยะสั้น แต่สำหรับผู้ป่วยรายนี้มีคุณพ่อเป็นเครื่องยึดเหนื่ยวจิตใจ ในภาวะที่เขากำลังรู้สึกอ่อนแออย่างมากในชีวิต และต้องมาสูญเสียคุณพ่ออย่างกะทันหันในเวลาที่เขาต้องการสิ่งนี้เป็นอย่างมาก เป็นต้น
9. การบำบัดที่ดี คือการที่ผู้ป่วยร่วมมือในการทำตามคำแนะนำของนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดอย่างเคร่งครัด
เช่นเดียวกับการเรียนในห้องเรียน ผู้สอนมีหน้าที่เพียงสอน แต่การจะนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ และต่อยอดความรู้ ขึ้นอยู่กับผู้เรียนด้วยเช่นกัน ดังนั้นในการบำบัดรักษาจึงจำเป็นอย่างมากที่ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด ในการให้นำคำแนะนำไปใช้ด้วยเช่นกัน
10. การบำบัดที่ดีคือการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้ป่วย
ในช่วงแรกของการบำบัด นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดจะพยายามเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกของผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยในการเล่าความรุ้สึก และใช้ศาสตร์หลายๆ ศาสตร์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้หลายๆ เรื่องของตัวผู้ป่วยเองด้วย เช่น วิธีการคิด หรือมุมมองใหม่ๆ การจัดการกับอารมณ์ รวมไปถึงการสร้างอุปนิสัยเพื่อความยั่งยืนในการรักษา ซึ่งนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดที่ดี จะสนับสนุนเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
.
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Comments