นักจิตวิทยาแนะนำ วิธีเอาตัวรอดจาก Toxic People ในที่ทำงาน 10 ประเภท
การไม่โรคเป็นลาภอันประเสริฐฉันใด การไม่มี Toxic People ในที่ทำงานก็เป็นลาภอันประเสริฐฉันนั้น หากใครได้อยู่ในหน่วยงานที่หัวหน้าดี ทีมดี เพื่อนร่วมงานดี ขอให้ปลาบปลื้มเถอะค่ะว่าแต้มบุญคุณสูงมาก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะไปเจอ Toxic People ในที่ทำงาน ทำให้เรากลายเป็นคนที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout syndromes) และสามารถกลายเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า
ด้วยความห่วงใย จึงขอหยิบเทคนิคการเอาตัวรอดจาก Toxic People ในที่ทำงาน จากหนังสือ “ลูกน้องโง่ เป็นเหยื่อของเจ้านายฉลาด เจ้านายฉลาด เป็นเหยื่อของลูกน้องแกล้งโง่” ที่เขียนโดยคุณศิริวรรณ ช้างพราย มาฝากกัน ดังนี้ค่ะ
การเอาตัวรอดจาก Toxic People ชอบโยนบาป
มาที่ Toxic People ในที่ทำงาน กลุ่มแรก นิยามสั้น ๆ ว่า “ผู้ใสสะอาด” เพราะบาปทั้งหมดที่เขาทำ เขาได้โยนมาให้เราหมดแล้ว คนเหล่านี้จะเน้นร่วมสุข ไม่เน้นร่วมทุกข์ ถ้างานดีจะรับชอบ แต่ถ้าโดนด่า ความผิดทั้งหมดตกที่เพื่อนทันที ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำวิธีรับมือ ดังนี้ค่ะ
อดทนเข้าไว้ ยิ่งเราวีน เราลงไม้ลงมือ หรือเราฟ้องนาย ภาพลักษณ์เรายิ่งแย่ค่ะ
โปรดรักษาความใจดีของคุณไว้ อย่าไปร้ายใส่เขา
อธิบายหัวหน้า/ผู้บริหารด้วยเหตุผล
Feedback ไปตรง ๆ ว่าเรารู้สึกแย่กับการกระทำของเขา
2. การเอาตัวรอดจาก Toxic People ชอบจับผิด วิจารณ์เก่ง
Toxic People กลุ่มที่สอง ตรงกับคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครเก่งเท่าแม่เธอแล้วละ” เพราะคนกลุ่มนี้จับผิดเก่ง มีความสามารถสูงในการหาคำเชิงลบมาวิพากษ์งานเรา โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำวิธีรับมือไว้ ดังนี้ค่ะ
พยายามใส่ใจคำพูดของคนเหล่านี้ให้น้อย เพราะทุกคนที่เขาพูดมันจะเสียดแทงใจให้เราเจ็บช้ำ เป็นการเสียสุขภาพจิตโดยใช่เหตุ
เลี่ยงได้เลี่ยง ต่างคนต่างอยู่
แต่ถ้าจำเป็นต้องใกล้ชิดกับคนเหล่านี้ ต้องระมัดระวังคำพูดและการกระทำค่อนข้างมาก เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และการถูกวิจารณ์
แต่ถ้ามองในแง่ดี เราสามารถนำคำวิจารณ์ของคนเหล่านี้มาพัฒนางานของเราให้ปังได้
3. การเอาตัวรอดจาก Toxic People วีนฉ่ำ
Toxic People กลุ่มนี้ เสียงดัง หัวร้อนง่าย จุดเดือดต่ำ ค่อนข้างยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เอาใจยากมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำเอาไว้ ดังนี้ค่ะ
หากต้องร่วมงานกัน หรือถูกสั่งงานโดยเจ้านายวีนเก่ง ถามเขาไปตรง ๆ เลยค่ะ ว่าเขาต้องการอะไร ต้องการงานแบบไหน ทำความเข้าใจให้ตรงกัน จะได้ไม่เสียเวลา เสียอารมณ์กันไป
ถ้าเขายิ่งกดเรา เรายิ่งต้องแสดงศักยภาพให้เขาเห็น แสดงความสามารถ โชว์ของผ่านผลงานให้เขาเห็น แล้วเขาจะหยุดวีนคุณไปเอง
ถามเขาไปตรง ๆ ถึงเหตุผลที่เขาตำหนิเรา หรือใส่อารมณ์กับเรา ถามให้หายค้างคาใจกันไป
4. การเอาตัวรอดจาก Toxic People ไม่รับผิดชอบ
คนกลุ่มนี้ หากเรารู้จักแบบผิวเผิน จะไม่มีทางรู้ได้เลยค่ะว่าเป็น Toxic People เพราะพวกเขาก็จะเป็นเพื่อนร่วมงานปกติธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อถึงเวลาส่งงาน เขาจะเทงาน โยนงาน ไม่ส่งงาน จนเมื่อช่วงเวลาวิกฤตที่เราต้องทำงานในส่วนของเขาแทน ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำว่า
กำหนดเวลาการส่งงานให้ชัดเจนไปเลย พร้อมวางแผนรับมือในกรณีเขาเทงานไว้ด้วย
ถ้าเป็นไปได้ ควรแจ้งหัวหน้า/ผู้บริหารรับทราบปัญหาที่เกิดจากความไม่รับผิดชอบของพวกเขาด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเอง
ต้องหาคนดุ ๆ มาคุมงานของคนกลุ่มนี้ เพื่อให้เขาส่งงานเราตรงเวลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องทำใจเรื่องคุณภาพงานไว้หน่อยนะคะ
5. การเอาตัวรอดจาก Toxic People ขวางโลก
คนกลุ่มต่อมาจะขวางเก่ง ต่อต้านไปหมดทุกเรื่อง เวลาคิดจะแปลกแหวกแนวแบบสุดโต่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ได้แนะนำเอาไว้ดังนี้ ค่ะ
ให้โอกาสเขาแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และให้เขาได้แสดงความสามารถ หากงานออกมาดี หน่วยงานก็ได้แนวทางการทำงานใหม่ แต่ถ้าออกมาไม่ดี เขาก็จะได้รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาคิดทำจริงได้ยาก
ให้เขาแสดงเหตุผลของการต่อต้าน เพื่อให้เราเข้าใจมุมมองของเขา
6. การเอาตัวรอดจาก Toxic People เปลี่ยนใจง่าย
Toxic People กลุ่มนี้จะโลเล ไม่มั่นใจในตนเอง เปลี่ยนใจง่าย ตัดสินใจอะไรไม่ได้ วันนี้พูดอย่าง แต่อีกวันพูดอีกอย่าง โดยผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาได้แนะนำวิธีรับมือไว้ ดังนี้
ให้ตัวเลือกเขาน้อย ๆ และให้ข้อจำกัดด้านเวลาเพื่อเป็นการเร่งให้เขาตัดสินใจ
หากเป็นหัวหน้า/ผู้บริหารที่โลเล เมื่อเขาสั่งงาน ควรมีการจดไว้เป็นลายลักษณ์
ควรให้เขารับรู้ถึงผลเสียของความโลเล ว่ามันสร้างความเสียหายให้แก่หน่วยงานขนาดไหน
7. การเอาตัวรอดจาก Toxic People คนถ่อย
คนกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่สร้างพื้นที่ส่วนตัวให้ตัวเองเอาไว้โดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้วค่ะ เพราะไม่มีใครต้องการเข้าใกล้เขา คนเหล่านี้จะเสียงดัง ใช้คำหยาบ มีพฤติกรรมระรานคนอื่น แต่ถ้าหากต้องร่วมงานด้วย ผู้เชี่ยวชาญก็มีข้อแนะนำ ดังนี้
ต่างคนต่างอยู่ หลบได้หลบ เลี่ยงได้เลี่ยง
เมื่อต้องติดต่อ ประสานงาน ให้สุภาพกับเขาเช่นที่เราทำกับคนอื่น ๆ
แจ้งหัวหน้า/ผู้บริหารรับทราบพฤติกรรมที่เป็นพิษเป็นภัยของเขา
8. การเอาตัวรอดจาก Toxic People สไตล์ท่านผู้นำ
Toxic People สไตล์ท่านผู้นำ จะทำตัวยิ่งใหญ่ เป็นจอมเผด็จการ แสดงตนเป็นหัวหน้าคนอื่น มีความมั่นใจ และมักข่มคนอื่นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นวิธีรับมือกับคนเหล่านี้ ก็คือ
อย่าไปใช้อารมณ์กับคนเหล่านี้ เพราะยิ่งเราแรงใส่ เขาจะแรงกว่าเรา
คนเหล่านี้เขาจะเข้าหาหัวหน้าเก่ง เพราะฉะนั้นหากคุณจะสู้กับเขา ต้องสู้ด้วยความสามารถ
เมื่ออยู่กับเขาต้องเข้มแข็ง แต่ไม่แข็งกร้าว นอบน้อมแบบมีชั้นเชิง ต้องโชว์ศักยภาพ โชว์ความสามารถให้เขาเห็น
9. การเอาตัวรอดจาก Toxic People ปาดหน้าเค้ก
Toxic People กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่น่าคบหาที่สุด ต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง ต่อหน้าพูดดี ลับหลังนินทา เก่งเรื่องการสืบข้อมูลลับ และบ่อยครั้งขโมยผลงานไปซึ่ง ๆ หน้า เราสามารถรับมือพวกเขาได้ ดังนี้ค่ะ
ต้องสร้างผลงานที่เป็นลายเซ็นของเรา (Signature) เมื่อหัวหน้า/ผู้บริหารจำเอกลักษณ์ในผลงานของเราได้ ก็ไม่มีใครสามารถขโมยผลงานของเราไปได้
อย่าให้ความสำคัญ เพื่อให้เขารู้ตัวว่าที่เขาทำอยู่เป็นสิ่งที่ผิด
บอกเขาไปตรง ๆ ว่าเรารู้สึกแย่กับการกระทำของเขามาก
10. การเอาตัวรอดจาก Toxic People นักร้อง
และมาถึง Toxic People กลุ่มสุดท้าย แก๊งนักร้อง มีใครทำอะไรไม่ถูกใจหน่อยก็ร้องเรียน ร้องเก่งจนเพื่อนไม่กล้าทำงานเลยทีเดียว ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำไว้ ดังนี้ค่ะ
สู้กันด้วยหลักฐาน เหตุผล และเจตนาในการกระทำ
ยิ่งห่างยิ่งดี ต้องระวังตัวเวลาต้องทำงานร่วมกับคนเหล่านี้ เพราะถึงแม้เรื่องที่เขาฟ้องจะไม่จริง แต่ก็เสียเวลาชีวิตที่ต้องมาแก้ต่าง
ถ้านับเวลาชีวิตวัน ๆ หนึ่งแล้ว เราจะเห็นว่าเราต้องใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานมากถึง 8 – 12 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว หรือบางคนก็มากกว่านั้น ดังนั้นแล้วการผูกมิตรย่อมเป็นการสร้างความสุขในที่ทำงาน โดยเคล็ดลับ ก็คือ เราต้องมี “ความเห็นอกเห็นใจกัน” (Empathy) แล้วการอยู่ร่วมกันในที่ทำงานจะมีความสุขค่ะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง : ศิริวรรณ ช้างพราย. (2566).ลูกน้องโง่ เป็นเหยื่อของเจ้านายฉลาด เจ้านายฉลาด เป็นเหยื่อของลูกน้องแกล้งโง่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คมาร์เก็ต.
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
댓글