10 ทักษะจำเป็นของเด็ก ๆ ที่ต้องมีก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคดิจิทัล
ปัจจุบันนี้ “ดิจิทัล” มีส่วนสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตของคนเรา ซึ่งทำให้ “ทักษะดิจิทัล” เป็นสิ่งจำเป็น โดย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวในฐานะวิทยากรในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2022 (SITE 2022) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ใจความสำคัญ ว่า “เชื่อมั่นว่านวัตกรรมสามารถเปลี่ยนเมืองได้ โดยเอาคนเป็นที่ตั้ง เทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบต้องสนับสนุนกัน ทั้งภาครัฐภาควิชาการ ประชาชน และเอกชน” ซึ่งตรงกับรายงานของ World Economic Forum เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ได้คาดการณ์ว่าในปี 2570 โลกจะเกิดภาวะ Double disruption เพราะมีการนำระบบดิจิทัลแทนการจ้างคนทำงาน ซึ่งทำให้คนที่ไม่มีทักษะดิจิทัลจะอยู่ได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ World Economic Forum ได้แนะนำว่า ทักษะดิจิทัลที่ควรมีเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล ได้อย่างไม่ลำบากนั้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 10 ทักษะด้วยกัน และนักจิตวิทยาองค์กรก็ได้วิเคราะห์ว่า ทักษะดิจิทัลที่ว่านั้นจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีติดตัวก่อนที่เขาจะเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
1. กลุ่มทักษะด้านการวิเคราะห์สถานการณ์
1) ทักษะด้านการคิด วิเคราะห์ และสร้างนวัตกรรม (Analytical thinking and innovation)
ทักษะในการคิด วิเคราะห์ และสร้างนวัตกรรมนั้น นักจิตวิทยาองค์กรได้ให้เป็น No.1 ของทักษะดิจิทัล เพราะถือเป็นทักษะเริ่มต้นของทักษะดิจิทัลด้านอื่น ๆ หากเรามีกรอบความคิดไปในเชิงดิจิทัล เราก็สามารถวิเคราะห์เทคโนโลยีดิจิทัลได้ถึงประโยชน์ โทษ แนวคิดของเทคโนโลยีดิจิทัล เราก็สามารถสร้างรวมถึงพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเองได้ โดยสามารถฝึกผ่านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เรียนรู้ถึงแนวคิดของเทคโนโลยีตัวนั้น และเข้าคอร์สการสร้างนวัตกรรมค่ะ
2) ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex problem-solving)
ทักษะในข้อนี้ฟังดูยาก เพราะต้องใช้ความอดทนสูงมากในการฝึกฝน ต้องอาศัยการฝึกผ่านประสบการณ์ จึงต้องทดลองทำงานจริง ลงพื้นที่จริง พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของปัญหาจริง ๆ เมื่อเราสั่งสมประสบการณ์ถึงระดับหนึ่งเราจะสามารถมองรูปแบบของปัญหาออก ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ปัญหาจะดำเนินไปอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งผู้ที่มีทักษะนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเขาและส่วนร่วมอย่างมาก เพราะสามารถกลายเป็นผู้กอบกู้สถานการณ์จากปัญหาได้นั่นเองค่ะ
3) ทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ (Critical thinking and analysis)
ในการแปลทักษะข้อนี้เป็นภาษาไทยค่อนข้างยาก ซึ่งโดยคำจำกัดความ ก็คือ การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยมีหลักการรองรับ สามารถสร้างสมมติฐานเชื่อมโยงและหาข้อสรุปที่ถูกต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการฝึกนั้นนักจิตวิทยาองค์การแนะนำว่าสามารถฝึกได้หลากหลายวิธี เช่น ฝึกผ่านการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่ดู วิเคราะห์หนังสือที่อ่าน วิเคราะห์สถานการณ์ข่าว เป็นต้น เมื่อเราฝึกวิเคราะห์บ่อยครั้งเข้า รวมถึงมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นเราก็จะได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย
4) ทักษะการริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity, originality and initiative)
ทักษะดิจิทัลในข้อนี้ดูจะเป็นทักษะที่เราคุ้นเคยและถูกฝึกกันมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กน้อย ซึ่งเป็นการเล่นตามช่วงวัย เพราะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั้นได้มาจากการส่งเสริมจินตนาการผ่านการเล่นบทบาทสมมุติ ทำงานศิลปะ เช่น ปั้นดินน้ำมัน วาดภาพ ระบายสี หรือการเสพงานศิลป์ตามรสนิยมที่ชอบ ซึ่งการมีความคิดสร้างสรรค์นั้นจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือพัฒนานวัตกรรมให้มีความน่าสนใจ เข้าถึงได้ง่าย และสวยงามได้อีกด้วยค่ะ
5) ทักษะการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา (Reasoning, problem solving and ideation)
ทักษะการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา เป็นทักษะนี้จำเป็นในทุกยุคทุกสมัย เพราะในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผลนั้นย่อมดีกว่าการใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหา เมื่อสติมาปัญญาจะเกิด เมื่อเรามองปัญหาด้วยเหตุและผล เราจะเห็นจุดเริ่ม และสามารถวิเคราะห์ไปถึงวิธีที่ทำให้ปัญหาจบได้ ซึ่งวิธีการฝึกนั้นสามารถทำได้โดยการเล่นเกมที่ใช้เหตุผล เช่น หมากรุก หมากล้อม ต่อจิ๊กซอว์ เขาวงกต เป็นต้น เพราะเกมเหล่านี้จะทำให้เราจำลองการเกิดปัญหา และฝึกการแก้ไขปัญหาด้วยการคิดแบบมีแบบแผน
2. ทักษะการควบคุมตนเอง
6) ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (Active learning and learning strategies)
ไม่ใช่แต่ยุคดิจิทัลที่ความรู้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ในทุกยุคทุกสมัย ทุกสถานการณ์ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นเสมอค่ะ เพราะถ้าเราขาดความรู้ที่จำเป็น ขาดความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะมีโอกาสอย่างมากที่จะวางแผนชีวิตผิดพลาด ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง และหางานทำลำบาก ดังนั้นการสนับสนุนให้เด็ก ๆ อ่านหนังสือ ใช้ Google หรือเข้าเว็บไซต์ค้นคว้าหาความรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงสนับสนุนให้เด็ก ๆ เรียนในสิ่งที่ชอบ หรือทำกิจกรรมในสิ่งที่สนใจก็จำเป็นไม่แพ้กันค่ะ
7) ทักษะการปรับตัวและรับมือกับความกดดัน (Resilience, stress tolerance and flexibility)
ต้องยอมรับเลยว่าทักษะการปรับตัวและรับมือกับความกดดันเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมาก เพราะโลกมีแน้วโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คนที่ปรับตัวไม่เก่งจะอยู่ยาก ดังนั้นจึงควรฝึกให้ลูกเผชิญกับความลำบากบ้าง เช่น ส่งลูกไปใช้ชีวิตกับญาติที่ต่างจังหวัด หรือสนับสนุนให้ลูกทำงาน พาร์ทไทม์ ลูกก็จะได้เผชิญปัญหาในโลกความจริง และที่สำคัญคือเราเองต้องพร้อมสนับสนุนลูก รับฟัง เมื่อลูกมาปรึกษาปัญหา และร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และมีความเข้มแข็งทางใจ
3. ทักษะการทำงานเป็นทีม
8) ทักษะการเป็นผู้นำทางสังคม (Leadership & Social Influence)
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้จะมี Influencer อยู่มากมาย แต่ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็จะเป็นได้ เพราะทักษะการเป็นผู้นำทางสังคมเป็นทักษะที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ที่นอกจากจะต้องฝึกฝนทางการแสดงออกแล้ว ยังต้องมาจากความรู้สึกภายในด้วย ดังนั้นในการฝึกทักษะดิจิทัลนี้ นักจิตวิทยาองค์การจึงได้แนะนำว่าควรสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ อยากเป็นผู้นำทางสังคมเสียก่อน โดยการสนับสนุนให้เด็ก ๆ หาไอดอลที่เหมาะสม และเรียนรู้แนวคิด รูปแบบการแสดงออกของ Influencer คนนั้น เพื่อเป็น Role Model ต่อไป
4. ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
9) ทักษะการใช้และบำรุงรักษาเทคโนโลยีดิจิทัล (Technology use, monitoring and control)
“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ยังใช้ได้ดีเสมอในทุกยุคทุกสมัย แล้วยิ่งในยุคดิจิทัลที่มีเครื่องมือเครื่องใช้มากมาย คนที่สามารถใช้ ควบคุม และบำรุงรักษาเทคโนโลยีดิจิทัลได้ด้วยตนเองย่อมได้เปรียบกว่า เพราะสามารถทำอะไรได้รวดเร็วและคล่องตัวกว่า รวมถึงมีความกังวลในการใช้ชีวิตน้อยกว่าด้วย ซึ่งการฝึกนั้นก็สามารถทำได้โดยหาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งการใช้งาน การแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาการใช้งาน และถ้าหากสามารถเรียนรู้เรื่องการซ่อมแซมด้วยจะดีมากเลยทีเดียว
10) ทักษะการออกแบบเทคโนโลยีและการสร้างโปรแกรม (Technology design & programming)
ถึงแม้ว่าทักษะการออกแบบเทคโนโลยีและการสร้างโปรแกรมจะเป็นทักษะเฉพาะทางขั้นสูง แต่เป็นทักษะที่ถ้าหากเรามีแล้วจะได้เปรียบคนอื่น ๆ อย่างมากในยุคดิจิทัล เพราะมีน้อยคนที่สามารถออกแบบเทคโนโลยีและสร้างโปรแกรมได้ โดยวิธีการใกก็ทำได้โดยสนับสนุนให้เด็ก ๆ เรียนการออกแบบเทคโนโลยีและสร้างโปรแกรมจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง แต่อาจจะต้องลงทุนสูงทั้งด้านเครื่องมือ และราคาค่าเข้าเรียนค่ะ
ก่อนนี้โลกยุคดิจิทัลนั้นเป็นโลกที่ไกลตัวมาก แต่ในปัจจุบันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะกลายเป็นดิจิทัล ดังนั้นการสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่ลูก หลานของเราจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเขาจำเป็นต้องใช้ทักษะเหล่านี้ในการใช้ชีวิตและการทำงาน หรือกล่าวได้ว่าทักษะเหล่านี้จะทำให้ลูก หลานเรามีความสุขในการใช้ชีวิตและไม่ลำบากในการทำงานค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 5 ทักษะที่คุณต้องมีก่อนที่ AI จะออกโรง (https://www.istrong.co/single-post/skill-before-ai-coming)
อ้างอิง : Praornpit Katchwattana.(23 มกราคม 2021). 10 ทักษะจำเป็น World Economic Forum ย้ำชัด คนทำงานควรต้องมีในปี 2025 ถ้าไม่อยากถูกดิสรัป.[ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565 จาก https://www.salika.co/2021/01/23/10-skills-world-economic-forum-2025/
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 8 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา
Comments