top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เช็กด่วน! 10 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน


บทความจิตวิทยานี้ ขอมอบให้แด่คนสู้งาน แต่งานสู้กลับ เพราะหลายคนก็ถูกงานน็อกจนมีภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน โดยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา จากงานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า โดยรศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยในปัจจุบัน มีจำนวนกว่า 1.5 ล้านคน


ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณกำลังถูกงานทำร้ายจนเกิดภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน ด้วยความห่วงใย ดิฉันจึงขอเชิญชวนคุณลองมาสังเกตตัวเองดูนะคะว่า มี 10 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังมีภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน อยู่หรือไม่ ลองมาดูกันค่ะ



1. รู้สึกวิตกกังวล คิดเรื่องงานตลอดเวลา


หากคุณมีความหลอนเสียงโทรศัพท์ ได้ยินเสียงไลน์เข้าก็ระแวงว่าจะเป็นเรื่องงาน วิตกกังวลเรื่องงานตั้งแต่ตื่นยันนอน แม้แต่หลับก็ยังฝันว่าแก้งาน แบบนี้แล้วเข้าข่ายมีอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องงานนะคะ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า โรคเครียด และโรคอื่น ๆ ได้อีกมากมาย



2. เบื่องาน ไม่มีความพอใจในงานที่ทำ รู้สึกไม่สนใจในงาน


สัญญาณต่อมาที่นักจิตวิทยาแนะให้ฝ้าระวัง ก็คือ ความรู้สึกหมดไฟในการทำงานค่ะ ทั้งเบื่องาน ไม่อยากมาทำงาน หาเรื่องหนีงาน หลีกเลี่ยงการรับงานอย่างตั้งใจ หมด Passion ที่จะทำงานนี้ต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะ Burnout Syndrome, Boreout Syndrome และ Brownout Syndrome ต่อไปได้ค่ะ



3. รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง


หากการมาทำงานทำให้คุณเป็นทุกข์ รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง มองไม่เห็นอนาคตในการทำงาน หรือมองไม่เห็นประโยชน์ในงานที่ทำ รู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำไร้ค่า เป็นท้อกับการทำงาน นี่ก็เป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะซึมเศร้าจากการทำงานค่ะ



4. หมดพลัง


หากตื่นเช้ามาในวันทำงานแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ไม่มีแรง ไม่อยากตื่นไปทำงาน แต่ก็ต้องฝืนพาร่างที่ไร้พลังไปถึงออฟฟิส แล้วก็ทำงานอย่างไรชีวิตชีวา ปล่อยให้เป็นแบบนี้นานเข้า คุณจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ ในสักวันแน่ ๆ ค่ะ



5. ขาดสมาธิ


อีกสัญญาณหนึ่ง ก็คือ คุณเริ่มรู้ตัวว่าทำงานอย่างใจลอย ไม่มีสมาธิในการทำงาน จดจ่อให้ความสนใจกับงานได้อย่างไม่เต็มที่ จำรายละเอียดงานไม่ได้ จำที่เจ้านายสั่งงานไม่ได้ หรือหลงลืมขั้นตอนการทำงานที่สำคัญไป หากปล่อยไว้นอกจากจะเกิดโรคซึมเศร้าแล้วยังจะกลายเป็นคนว่างงานอีกนะคะ



6. งานผิดพลาดบ่อยขึ้น


หากคุณต้องแก้งานในส่วนที่ไม่ควรผิดพลาดบ่อยครั้งมากขึ้น เช่น งานไม่ครบ รายละเอียดงานหายในส่วนที่สำคัญ ข้ามขั้นตอนการทำงาน ทำงานไม่ครบขั้นตอน เป็นต้น ซึ่งความผิดพลาดเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่าสภาพจิตใจของคุณไม่โอเคกับการทำงานแล้วค่ะ



7. ขาด ลา มาสาย หายบ่อย


หากคุณสังเกตตนเองได้ว่าเราลาบ่อยจัง ขาดงานโดยตั้งใจก็บ่อย สายติด ๆ กัน และหายหน้าจากเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานโดยตั้งใจ ไลน์กลุ่มก็ไม่ค่อยอยากอ่าน ที่ทำงานก็ไม่ค่อยอยากเข้า แบบนี้เป็นสัญญาณสำคัญแล้วค่ะว่าคุณไม่มีความสุขในการทำงาน



8. หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์


ถ้าเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือคนในที่ทำงานมาบอกคุณตรง ๆ ก็ตาม ว่า คุณขี้เหวี่ยง ขี้วีน หัวร้อน จุดเดือนต่ำ หรือคนในที่ทำงานเริ่มไม่อยากพูดคุยกับคุณ ไม่อยากทำงานกับคุณ หรือคุณได้ยินเสียงเม้ามอยเกี่ยวกับคุณเรื่องการควบคุมอารมณ์ ก่อนจะไปโกรธเขาลองสังเกตตัวเองดูก่อนนะคะ ว่าคุณมีปัญหาเรื่องควบคุมอารมณ์จริงอย่างเขาว่าหรือไม่ หากใช่ก็เข้าข่ายภาวะซึมเศร้าจากการทำงานแล้วละค่ะ



9. มีปัญหาการนอน


ถ้าคุณผู้เริ่มมีปัญหาในเรื่องการนอน ไม่ว่าจะนอนมากเกินไป นอนข้ามวันข้ามคืน หรือนอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย ละเมอ นั่นแสดงให้เห็นสัญญาณที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจของคุณแล้วละค่ะ



10. มีปัญหาการรับประทานอาหาร


หรือถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการรับประทาน ทั้งการทานมากเกินไป ทานไม่เป็นเวลา ทานตลอดเวลา ใช้เวลาในการทานนานมาก หรือทานน้อยเกินไป ทานอะไรไม่ลง ไม่มีความสุขกับการทานอาหาร นั่นก็เป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าจากการทำงานค่ะ


ซึ่งหากคุณมีอาการเหล่านี้และทิ้งไว้นาน ก็จะนำไปสู่โรคซึมเศร้า หรือ Major Depression ได้โดยมีอาการดังต่อไปนี้


  1. มีอารมณ์ซึมเศร้า เห็นอะไรก็หม่นหมอง ไม่มีความสุขเหมือนเคย หรือบางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว การควบคุมอารมณ์แย่ลงอย่างมาก

  2. ขาดความสนใจ เบื่อ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะทำ หรือปิดกั้นตัวเองจากคนรอบข้าง

  3. เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากขึ้น น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก กินอะไรไม่ลง ไม่มีความอยากอาหาร หรือในบางคนกลับกินหนักกว่าเดิม

  4. นอนไม่หลับ หรือนอนนานกว่าปกติ ถ้าไม่นอนหลับข้ามวันข้ามคืนไปเลย ก็ไม่นอนเลย คิดมากจนไม่หลับไม่นอน ร้องไห้จนนอนไม่ได้

  5. เคลื่อนไหวหรือพูดจาช้ากว่าปกติ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยตลอดเวลา ทำอะไรก็ไม่มีแรง นอนนานแค่ไหนก็รู้สึกไม่สดชื่น เพลียตลอดเวลา

  6. มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โดดเดี่ยว และมีความรู้สึกผิด มักโทษตัวเองอยู่เสมอ มีความคิดวนเวียนอยู่แต่กับความผิดพลาดของตัวเอง

  7. ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง และขาดการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องง่าย ๆ ก็ตาม

  8. รอบเดือนผิดปกติ มีความสนใจเรื่องเพศลดลงหรือมากขึ้น คือ ถ้าไม่ด้านชาไปเลย ก็หมกมุ่น ไปเลย

  9. เจ็บปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการป่วยแบบหาสาเหตุไม่ได้

  10. มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองโดยตั้งใจและวางแผนไว้แล้ว

และก่อนจบบทความจิตวิทยานี้ไป ขอฝากแนวทางในการดูแลและฟื้นฟูสภาพจิตใจจากภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน ดังนี้นะคะ

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 30 นาทีเป็นต้นไป เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร Endorphins ให้ร่างกายและจิตใจรู้สึกสดชื่นนั่นเองค่ะ

  2. มีวินัยในการนอน โดยนอนหลับให้เป็นเวลา และนอนอย่างมีคุณภาพในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สมองรักษาสมดุลของสาร Serotonin

  3. ฝึกเป็นคนคิดบวก พยายามปรับมุมมองชีวิตให้คิดในแง่ดี มองหามุมบวกในชีวิต

  4. รักษาเวลาชีวิตให้เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินชีวิตมีตารางเวลา มีแบบแผน มีสติในการใช้ชีวิต

  5. กำหนดเป้าหมายชีวิต ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้สามารถทำเป้าหมายชีวิตได้สำเร็จมากยิ่งขึ้น

  6. หากิจกรรมใหม่ ๆ ทำ ไปเปิดโลก เปิดมุมมองชีวิต เพื่อเพิ่มความสดใสในชีวิต

  7. พยายามอยู่กับคนที่เรารักและรักเรา เพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีชีวิตอยู่ และเพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิต

  8. ช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังและโอกาส เพื่อให้คุณได้รู้สึกว่าชีวิตคคุณมีค่าต่อคนอื่น ๆ ในสังคม

  9. ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

ทั้งนี้หากชีวิตหนักหนาและต้องการคนให้คำปรึกษา สามารถพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของคุณ หรือจะติดต่อ iSTRONG ก็มีบริการให้คำปรึกษาหลากหลายรูปแบบให้คุณเลือกสรรนะคะ อย่าลืมดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรงอยู่เสมอนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :



อ้างอิง :

[1] Hfocus. (20 มิถุนายน 2565). จุฬาฯ เผย คนไทยป่วยซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน ร่วม สธ.-สสส. เร่งพัฒนา “แอปฯ DMIND” ถูกต้อง-แม่นยำ-ใช้ง่ายผ่านหมอพร้อม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2565 จาก https://www.hfocus.org/content/2022/06/25347

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุข กับการเขียนบทความจิตวิทยา


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page