top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

10 วิธีแก้อาการแคร์คำพูดคนอื่นมาก กลัวคนอื่นไม่ชอบ


ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนมีพื้นฐานความต้องการเหมือนกันหมด โดยหนึ่งในพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ก็คือการได้รับความรักและการยอมรับจากคนอื่น ความต้องการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์


และยังคงเป็นเช่นเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมและไม่ได้เกิดมาพร้อมเขี้ยวเล็บอย่างสัตว์ชนิดอื่น สัญชาตญาณทางธรรมชาติได้กำหนดให้มนุษย์เกาะกลุ่มกันไว้ เพราะการโดดเดี่ยวแปลกแยกออกไปอาจทำให้มนุษย์เสี่ยงตายมากกว่าการมีกลุ่มช่วยปกป้องกันและกันจากอันตราย


แม้ในปัจจุบันมนุษย์สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยให้กับตัวเองได้แล้ว แต่สัญชาตญาณการรวมกลุ่มก็ยังคงอยู่เสมอมา การเงี่ยหูฟังและคอยดูว่าคนอื่นมีความเห็นคิดยังไงนั้นช่วยให้คนเราหาทางปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มได้อย่างหนึ่ง แต่เนื่องจากมนุษย์มีความซับซ้อนและมีลักษณะเฉพาะตัวสูง จึงทำให้บางคนมีลักษณะแคร์คำพูดคนอื่นมาก หรือกลัวคนอื่นไม่ชอบ ซึ่งคนที่เป็นแบบนี้มักจะเกิดความทุกข์ใจจนบางครั้งก็กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตไปได้


คนแบบไหนที่มักมีลักษณะแคร์คำพูดคนอื่นมาก กลัวคนอื่นไม่ชอบ


คนที่มีแนวโน้มที่จะมีลักษณะแคร์คำพูดคนอื่นมาก กลัวคนอื่นไม่ชอบ ได้แก่ คนที่มีความนับถือตัวเองน้อย (Low Self-esteem) จึงมีโอกาสที่จะไขว้เขวอ่อนไหวไปกับความคิดเห็นของคนอื่นได้มากเพราะตัวเองก็มีความสงสัย (Self-doubt) อยู่แล้วเหมือนกันว่า “ฉันดีพอรึเปล่านะ” อีกแบบหนึ่งก็คือคนที่มีอาการวิตกกังวลในการเข้าสังคม (Social Anxiety) ซึ่งพื้นฐานแล้วมักจะเป็นคนที่กลัวการประเมินตัดสินจากคนอื่น จึงมักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องไปพบเจอผู้คนเพราะต้องการหลีกเลี่ยงการถูกประเมินตัดสินจากคนอื่น


10 วิธีสู่การเลิกเป็นคนที่แคร์คำพูดคนอื่นมาก กลัวคนอื่นไม่ชอบ


1. เข้าใจและยอมรับความจริงของชีวิต


มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีความคิดเห็นต่อคนอื่น นั่นหมายความมันก็เป็นเรื่องปกติที่คนอื่นจะมีความคิดเห็นต่อคุณ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นบางครั้งก็อาจจะตรงกับความคิดคุณ แต่บางครั้งมันก็เป็นเพียงมุมมองของเขาซึ่งอาจจะไม่ได้ตรงกับความเป็นคุณเลยแต่ว่ามันสะท้อนความเป็นเขาซะมากกว่า


2. หันมาโฟกัสกับปัจจัยที่ควบคุมได้ก็คือตัวคุณเอง


เลิกให้น้ำหนักกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างความคิดของคนอื่น แล้วหันมาใส่ใจกับการควบคุมตัวเอง โดยเริ่มต้นจากการฝึกควบคุมร่างกายก่อน เช่น การฝึกทำสมาธิ การฝึกหายใจ การเล่นโยคะ

3. ทุกคนล้วนมีข้อผิดพลาดกันทั้งนั้นและ ‘มันไม่เป็นไร’


แม้ว่าทุกคนอยากจะเป็นคนที่เพอร์เฟค แต่ในโลกใบนี้ไม่มีใครเลยที่สมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง ทุกคนล้วนมีข้อผิดพลาดและข้อบกพร่อง ดังนั้นจึงไม่ได้มีแต่คุณที่ไม่เพอร์เฟคและมันก็ไม่เห็นจะเป็นไรเลยที่จะไม่เพอร์เฟค


4. ฝึกทำ Self-reflection


หมั่นคุยกับตัวเองบ่อย ๆ และตั้งคำถามเพื่อพัฒนาความมั่นใจให้กับตัวเอง ซึ่งบางทีก็อาจต้องตั้งคำถามยาก ๆ บ้าง เช่น “ฉันเป็นคนแบบไหน” “อะไรบ้างที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับฉัน” “ฉันมีความสุขกับอะไรบ้าง” พยายามอย่าตำหนิวิจารณ์ตัวเองบ่อย หันไปใส่ใจกับความเป็นจริงของตัวเองและมองมันให้ชัดเจนจะได้ไม่หวั่นไหวเวลาที่ถูกคนอื่นวิจารณ์


5. เลือกแคร์คนที่ควรแคร์ ไม่จำเป็นต้องแคร์ทุกคน


เผื่อคุณยังไม่รู้ คุณควรรู้ได้แล้วว่าคุณไม่จำเป็นต้องแคร์ทุกคนบนโลกใบนี้ อย่างเช่นคนแปลกหน้าที่เดินเข้ามาบอกคุณว่าทำไมคุณดูไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสเลย คุณก็ไม่จำเป็นต้องเก็บเอามาคิดเพราะเขาไม่ได้รู้จักตัวตนของคุณเลย แค่แคร์คนที่สำคัญในชีวิต เช่น คนในครอบครัว เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน มันก็สูบพลังคุณมากพอแล้ว หากต้องแคร์ทุกคนก็คงไม่เหลือพลังไปทำอะไรกันพอดี


6. ที่จริงแล้วคุณวิจารณ์ตัวเองยิ่งกว่าคนอื่นซะอีก


คนเรามักจะเชื่อว่าคนอื่นวิจารณ์ตัวเอง ซึ่งแม้จะมีคนอื่นวิจารณ์คุณบ้างจริง ๆ แต่ในความจริงนั้นคุณคือคนที่วิจารณ์ตัวเองมากกว่าใคร ๆ โดยเฉพาะหากคุณเป็นคนที่แคร์คำพูดคนอื่นมาก กลัวคนอื่นไม่ชอบ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณเองก็วิจารณ์ตัวเองบ่อย ๆ และไม่ค่อยชอบตัวเองสักเท่าไหร่


7. อย่าพยายามอ่านใจคนอื่น


หลายคนพยายามอ่านใจคนอื่นซึ่งมันจะยิ่งแย่ต่อสุขภาพจิตของตัวเองมากหากเชื่อว่าตัวเองอ่านใจคนอื่นถูก ในความจริงแล้วมันมีโอกาสมากที่การอ่านใจคนอื่นจะผิด ดังนั้น อย่าพยายามอ่านใจคนอื่นเพราะมันจะทำให้ทุกข์ใจโดยใช่เหตุ เพราะคนอื่นอาจจะไม่ได้คิดกับคุณในแบบที่คุณเข้าใจไปเองก็ได้


8. เลือกอยู่กับคนที่ใจกว้าง สนับสนุนและยอมรับคุณอย่างที่คุณเป็น


การอยู่ท่ามกลางคนที่มีความคิดลบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนล้วนสร้างความเจ็บปวดทางใจให้กับคุณได้ทั้งสิ้น ดังนั้น คุณควรมองหาคนที่มีลักษณะใจกว้าง สนับสนุนและยอมรับคุณในแบบที่คุณเป็น และใช้เวลาอยู่กับพวกเขาให้มากเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตของตัวเอง


9. เข้ารับการทำจิตบำบัด


จิตบำบัดสามารถช่วยให้คุณพัฒนาทักษะในการรับมือกับปัญหาความทุกข์ได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น จิตบำบัดแบบปรับความคิดพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) ที่จะช่วยให้คุณมีทักษะในการรับมือกับความคิดอัตโนมัติทางลบของตัวเองได้ดีขึ้น นอกจากนั้นในกระบวนการจิตบำบัดจะมีแบบฝึกหัดให้คุณได้ฝึกฝนตัวเองภายใต้บรรยากาศที่ปลอดภัยโดยมีนักจิตบำบัดให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่จะนำทักษะต่าง ๆ ไปใช้ในสถานการณ์จริง


10. คุณเองก็ต้องพยายามไม่ตำหนิวิจารณ์คนอื่นด้วยเช่นกัน


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการที่คุณไม่ไปตำหนิวิจารณ์คนอื่นมันจะสามารถช่วยให้คุณปล่อยวางความกังวลว่าคนอื่นจะคิดกับคุณยังไงได้ด้วยเหมือนกัน เพราะคนที่เฆี่ยนตีกดดันตัวเองมาก ๆ ก็มักจะทำแบบนั้นกับคนอื่นมากพอกัน ในทางกลับกัน คนที่ให้โอกาสคนอื่นได้ลองผิดลองถูกมองว่าคนอื่นมีข้อผิดพลาดบ้างก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร ก็มักจะสบาย ๆ กับตัวเองและไม่กังวลว่าจะถูกคนอื่นตำหนิวิจารณ์ด้วยเหมือนกัน

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Tips to Soothe Your Worries of What Others Think of You. Retrieved from. https://psychcentral.com/blog/mental-shifts-to-stop-caring-what-people-think-of-you#why-we-care


บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] 3 เทคนิคแก้ปัญหา อาการกลัวคนอื่นมองเราไม่ดี https://www.istrong.co/single-post/3-techniques-to-solve-problems-fopo

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page