10 ทักษะการสื่อสารที่จะช่วยเสริมให้ชีวิตและการทำงานของคุณประสบสำเร็จ
หนึ่งในทักษะที่นายจ้างจำนวนมากคาดหวังให้พนักงานมีก็คือทักษะการสื่อสาร (communication skills) เนื่องจากทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญจำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะในยุคที่ AI สามารถเข้ามาทำงานทดแทนมนุษย์ได้ในหลายตำแหน่ง หากพนักงานขาดทักษะการสื่อสารก็อาจจะทำให้ดูไม่ค่อยมีความแตกต่างไปจากหุ่นยนต์ ดังนั้น ในปัจจุบันมนุษย์จึงต้องหมั่นพัฒนาตนเองให้มีทักษะที่ AI ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก หนึ่งในนั้นก็คือทักษะการสื่อสาร ได้แก่
1. การฟังแบบ Active listening หรือในบางครั้งก็เรียกว่าการฟังอย่างเห็นคุณค่า (appreciative listening) การฟังอย่างมีสติ (mindful listening) หมายถึง การตั้งใจฟังคู่สนทนาอย่างมีส่วนร่วม มีการถามคำถามกลับ ทวนความ ซึ่งการฟังแบบ Active listening มีข้อดีตรงที่มันช่วยทำให้การสนทนาเต็มไปด้วยความให้เกียรติกันและช่วยให้คุณและเพื่อนร่วมงานมีความเข้าใจกันมากขึ้น โดยการเพิ่มทักษะการฟังเช่นนี้สามารถทำได้โดยตั้งใจฟังคู่สนทนาให้เต็มที่ หยุดใช้โทรศัพท์มือถือหรือหยุดทำอย่างอื่นระหว่างการสนทนา พร้อมกับสังเกตสีหน้า ภาษากาย น้ำเสียงของอีกฝ่าย และแทนที่จะคุยเพื่อพูดในสิ่งที่คุณอยากจะพูดก็เปลี่ยนเป็นฟังอีกฝ่ายว่าเขาพูดอะไรเพื่อจะได้ตอบสนองให้สอดคล้องกับสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารออกมา หรือหากฟังแล้วไม่เข้าใจก็ควรถามเพื่อจะได้เข้าใจให้ตรงกันมากขึ้น
2. การเลือกใช้วิธีสื่อสารได้อย่างถูกต้อง มีความสามารถในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ เช่น อีเมล์ จดหมาย โทรศัพท์ พบหน้า ส่งข้อความผ่านทางออนไลน์ โดยสามารถเลือกใช้รูปแบบการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมกับคนที่ต้องการจะสื่อสารด้วย รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ได้ เช่น เลือกที่จะวิดีโอคอลเพื่อสื่อสารเรื่องที่มีความซับซ้อนแทนการส่งอีเมล์
3. ความเป็นมิตร เช่น จริงใจ อ่อนโยนมีเมตตา สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจกันมากขึ้น สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานด้วยทัศนคติที่ดี รวมไปถึงแสดงท่าทีที่เป็นมิตร เช่น ทักทาย ยิ้มแย้ม ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เพื่อนร่วมงานเคยเล่าว่าอีกไม่กี่วันจะถึงวันเกิดของลูก พอเวลาผ่านไปคุณอาจก็ลองถามเขาดูว่าวันเกิดลูกที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง
4. ความมั่นใจ ใช้ภาษากายช่วยในการแสดงถึงความมั่นใจ เช่น สบตาคู่สนทนา นั่งหลังตรงไม่ห่อไหล่ ซึ่งท่าทีที่มั่นใจแบบนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมบุคลิกในการทำงาน แต่ยังจะช่วยทำให้ดูน่าสนใจเวลาอยู่การสัมภาษณ์งานอีกด้วย
5. การร่วมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค ผลกระทบ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่นำเสนอไปหรือแนวทางที่จะช่วยเพิ่มจุดแข็งให้กับการทำงานของทีมได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงจดโน้ตเอาไว้ว่าคนอื่นมีความคิดเห็นยังไงบ้างและนำส่วนที่ช่วยสะท้อนให้เห็นจุดที่คุณต้องพัฒนามาปรับใช้
6. ใช้ระดับเสียงที่เหมาะสม การปรับระดับและการเลือกน้ำเสียงให้เหมาะสมถือเป็นทักษะอย่างหนึ่ง เวลาพูดให้ใช้ระดับเสียงที่คนอื่นได้ยินชัดเจนแต่ต้องไม่ดังจนคนอื่นรู้สึกว่าถูกตะคอกใส่ รวมถึงการใช้เสียงสูงเสียงต่ำ การเน้นบางคำในประโยค การเลือกใช้คำพูด ก็มีผลต่อความรู้สึกของคู่สนทนาด้วยเหมือนกัน
7. Empathy การมี Empathy ไม่ได้หมายถึงแค่การเข้าใจคนอื่นแต่มันรวมถึงความสามารถในการแชร์ความรู้สึกกับคนอื่นได้ด้วย เพื่อให้คุณสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสมในเวลาที่สื่อสารกับคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นใครกำลังอารมณ์เสียอยู่ การที่คุณมี Empathy คุณก็อาจจะเข้าไปช่วยรับฟังเรื่องที่เขาอยากจะระบาย หรือถ้าเห็นใครกำลังอารมณ์ดีก็อาจจะเป็นโอกาสดีในการเข้าไปแชร์ไอเดียในการทำงานกับเขา
8. ให้เกียรติผู้อื่น มีหลายวิธีด้วยกันในการแสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่น เช่น ไม่พูดแทรกหรือขัดจังหวะทั้งที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ ไม่เปลี่ยนหัวข้อสนทนาไปกะทันหัน พูดคุยถามตอบเกี่ยวกับสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูดอยู่ด้วยความสนใจ
9. มีความเข้าใจภาษากาย ความหมายส่วนหนึ่งของการสื่อสารจะแฝงอยู่ในภาษากาย การแสดงสีหน้าแววตา ขณะเดียวกันก็ไม่ตัดสินคนอื่นโดยอ่านจากภาษากายเพียงอย่างเดียวเพราะบางครั้งคนต่างวัฒนธรรมหรือมีความสามารถในการแสดงภาษากายไม่เท่ากันก็อาจจะมีภาษากายที่ไม่เหมือนกัน
10. ความสามารถในการตอบสนอง เช่น ความคล่องแคล่วว่องไวในการรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมล์ ไหวพริบในการเลือกระยะเวลาในการตอบสนอง เช่น ถ้าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนต้องใช้เวลาหาข้อมูลก็อาจจะไม่ต้องตอบโดยทันทีแต่แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปแจ้งข้อมูลในภายหลัง
โดยสรุป ทักษะการสื่อสารถือเป็นทักษะที่สำคัญโดยเฉพาะในการทำงาน เพราะนอกจากมันจะทำให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่นแล้วมันยังมีผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอีกด้วย ซึ่งความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็มีผลต่อความร่วมมือเพื่อให้งานบรรลุตามเป้าหมาย ดังนั้น แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่เก่งด้าน hard skills มากแค่ไหน แต่หากคุณขาดทักษะการสื่อสารก็อาจจะส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นได้ จึงไม่ควรที่จะละเลยทักษะการสื่อสารรวมถึงทักษะ soft skills อื่น ๆ เพื่อเสริมให้ชีวิตและการทำงานของคุณประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] 10 Communication Skills for Your Life and Career Success. Retrieved from https://www.indeed.com/career-advice/resumes-cover-letters/communication-skills
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments