หยุดภาวะ Low Self-Esteem ต้นตอสำคัญของโรคซึมเศร้า
Self-Esteem คือ ความรู้สึกที่เราชอบตัวเอง มีความสุขกับตัวเอง ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเอง และให้เกียรติตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของการที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่มี High Self-Esteem จะสามารถเอาตัวเองก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ได้ จะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่แย่ หรือทำอะไรที่จะทำให้พวกเขาสูญเสียความรู้สึกให้เกียรติตัวเอง และคุณค่าของตัวเอง ในทางกลับกัน คนที่มี Low Self-Esteem ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ เมื่อเจอวิกฤติในชีวิต เนื่องจากพวกเขาตีความเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้นเหตุมาจากตัวเขาเอง และมองว่าตัวเองไม่มีความสามารถ หรือไม่ดีพอนั่นเอง
มีผลงานวิจัยค้นพบว่า Self-Esteem มีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า กล่าวคือ เมื่อเรารู้สึกไม่ชอบตัวเอง (Low Self-Esteem) เราก็มักจะรู้สึกซึมเศร้า และถ้าหากเราเป็นโรคซึมเศร้า ความรู้สึกเศร้าใจ รู้สึกแย่ต่างๆ ก็จะพาลทำให้เราไม่ชอบตัวเองไปด้วย
Low Self-Esteem เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. ถูกตอกย้ำจากครอบครัวว่า เราไม่ดีพอ
ถ้าเราโตมาในครอบครัวที่คอยบอกเราตลอดเวลาว่า สิ่งที่เราทำมันไม่ดีพอ มันก็ยากที่เราจะโตขึ้นมาแล้วรู้สึกดีกับตัวเอง
2. การไม่ได้รับความเอาใจใส่ หรือ ชื่นชมจากคนในครอบครัว
การไม่ได้รับคำชื่นชมจากคนในครอบครัว เมื่อเราประสบความสำเร็จ หรือทำสิ่งดีๆ ทำให้เรารู้สึกถูกละเลย ไม่ได้รับความรัก สิ่งที่เราทำไม่มีความสำคัญ นอกจากส่งผลให้เกิด Low Self-Esteem แล้ว ยังทำให้เราขาด Motivation ในการทำสิ่งดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองในชีวิตอีกด้วย
3. คิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว
การเติบโตในครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้ง และเด็กรู้สึกว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนในครอบครัวทะเลาะกัน ในกรณีนี้ เมื่อมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น บรรยากาศในบ้านมักมึนตึง ในวัยเด็กเรามักไม่เข้าใจเหตุผลที่เกิดขึ้น และคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุของการทะเลาะครั้งนี้ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองเป็นสาเหตุ ก็ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี และทำให้เด็กเกิด Low Self-Esteem ได้
4. การถูก Bully และไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัว
เมื่อเด็กถูกรังแกจากนอกบ้าน และกลับมาบ้านพวกเขาก็ยังรู้สึกไม่ได้รับความปลอดภัย หรือรู้สึกรักอีก ก็ยากที่เขาจะรู้สึกดีกับตัวเองได้ พวกเขารู้สึกว่าไม่มีค่า ไม่มีความสำคัญบนโลกใบนี้ และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของ Low Self-Esteem
5. การถูก Bully และครอบครัวเข้าข้างมากจนเกินไป
การที่พ่อแม่โอ๋ลูกมากจนเกินไป ทำให้เขาอ่อนแอ และไม่สามารถจัดการกับปัญหาและอุปสรรคในชีวิตได้ ซึ่งเมื่อพวกเขาโตขึ้น ความรู้สึกที่ไม่มีความสามารถดูแลตัวเอง อ่อนแอ จะทำให้เขารู้สึกไม่ชอบตัวเอง
6. การทำอะไรยากๆ โดยปราศจากกำลังใจ
ทุกวันนี้การแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะ การเรียน การทำงาน การที่เรารู้สึกไม่มีความสามารถ สู้คนอื่นไม่ได้ โง่ และไม่ได้ความเข้าใจ หรือกำลังใจจากคนในครอบครัว ก็จะทำให้พวกเขา Low Self-Esteem ได้
7. ประสบความล้มเหลว หรือวิกฤติในชีวิต
การประสบปัญหาในชีวิตที่ส่งผลกับสภาพจิตใจ อาจทำให้คนๆ นั้นหมดหวังกับชีวิต และนำมาซึ่ง Low Self-Esteem และโรคซึมเศร้าได้
8. ความเชื่อ และสังคม
ในปัจจุบัน Social Media และโฆษณา ทำให้เรารู้สึกว่าเราดีไม่พอ เราสวยไม่พอ เก่งไม่พอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของ Low Self-Esteem และโรคซึมเศร้า
จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่มาของภาวะ Low Self-Esteem ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัว ดังนั้นครอบครัวจึงมีผลอย่างมากในการเพิ่ม Self-Esteem และรักษาโรคซึมเศร้า (อ่านเรื่อง จิตบำบัดสัมพันธภาพในครอบครัว ทางเลือกในการรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่ต้องพึ่งยา)
ดังนั้นเมื่อเราทราบกันดีแล้วว่า Low Self-Esteem เป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการเกิดโรคซึมเศร้า เราก็ควรที่จะดูแลสภาพอารมณ์ และจิตใจของเรา โดยสามารถทำได้ ด้วย 3 วิธีการดังต่อไปนี้
1. อย่าพยายามมากจนเกินไปที่จะปรับปรุง Self-Esteem
การที่เราพยายามหาคำตอบและโฟกัสมากเกินไป ว่าทำไมเราถึงรู้สึกแย่กับตัวเอง จะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้น เปรียบเสมือนกับเราโฟกัสอยู่กับปัญหาที่ซับซ้อน แทนที่เราจะมองหาจุดอ่อน หรือปัญหาที่เกิดขึ้น พยายามหากิจกรรมอย่างอื่นทำ ที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของเรา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะทำให้เรามีความสุข หรือช่วยเหลือผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากจะสร้างประโยชน์ต่อคนอื่นและสังคมแล้ว ยังทำให้เราเพิ่มความรู้สึกดีขึ้นกับตัวเองอีกด้วย
2. พยายามไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
การเปรียบเทียบเป็นต้นเหตุที่สำคัญอันดับต้นๆ ของ Low Self-Esteem และนำพาเราไปสู่โรคซึมเศร้า คนเรามีเรื่องราวของชีวิตที่แตกต่างไม่เหมือนกัน สิ่งที่ถูกโพสต์บน social media เป็นเพียงด้านดี แค่ส่วนน้อยในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่มีทั้ง ความสุข และความทุกข์ การเปรียบเทียบกับคนที่แย่กว่า อาจทำให้เรารู้สึกดีเพียงชั่วคราว แต่ก็ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกัน การเปรียบเทียบกับคนที่ดีกว่า เก่งกว่า โดยที่ไม่เข้าใจที่มาที่ไปว่าจริงๆ แล้ว เขาอาจผ่านปัญหาและอุปสรรค มามากมายก่อนจะมาถึงวันนี้ ซึ่งตัวเราเองก็มีความสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
3. มองว่าทุกอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
จำไว้ว่า ไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในปัจจุบันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ที่เราจะผ่านมันไป และทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราถาวร เพียงแต่ทำวันนี้ของเราให้ดีที่สุด โฟกัสกับปัจจุบันขณะ
แพรหวังว่าบทความจิตวิทยาบทความนี้ จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจที่มากขึ้น ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า และความรู้สึกต่อตัวของพวกเขาเอง ในทางกลับกัน แพรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวจะช่วยดูแลสุขภาพจิตใจของคนที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหา Low Self-Esteem เพื่อช่วยป้องกันพวกเขาจากการเป็นโรคซึมเศร้านะคะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
コメント