3 เทคนิคค้นหาตัวตน ทำความรู้จักตัวเองอย่างชาญฉลาด
ถ้าว่ากันด้วยคำถามที่ตอบยากที่สุดในโลก อาจไม่ใช่คำถามว่า “ไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน?” แต่มันคือคำถามที่ว่า “เราคือใคร?” หรือ “เรารู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน?” ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามที่ทั้งกว้างและลึก ซึ่งความกว้างของคำถามก็คือ เราสามารถตอบได้ทั้งสถานะของเราในอดีต หรือภาพฝันที่เราต้องการจะเป็นในอนาคต และสำหรับความลึกของคำถามก็คือมันลึกถึงขั้นจิตวิญญาณเลยทีเดียว ว่า “แก่นแท้ของเราคืออะไร?” “เราจะค้นหาตัวตนของเราได้ย่างไร?”
เราจะเริ่มทำค้นหาตัวตนโดยการตั้งคำถามว่า “เราคือใคร?”
ตามทฤษฎีพัฒนาการ 8 ขั้นของ Erik Erikson กล่าวไว้ว่า เมื่อเราเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อายุ 11-18 ปี เราจะเข้าสู่พัฒนาการทางสังคมขั้นที่ 5 คือ เราจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจบทบาทของตัวเอง หรือ มีความสับสนในบทบาทของตัวเอง (Ego Identity vs Role Confusion) ในขั้นนี้เราจะสามารถสร้างเอกลักษณ์และรู้จักตัวตนของตนเองได้ แต่ถ้าหากเกิดการติดขัดในขั้นนี้ ก็จะเกิดความไม่เข้าใจตนเอง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นพัฒนาการขั้นนี้ช่วยให้เราสามารถตอบคำถามที่ว่า “เราคือใคร?” ได้
ในประเด็นเดียวกัน Tony Robbins นักเขียนหนังสือจิตวิทยา life coach และอีกหลายหลากหน้าที่ที่ล้วนแล้วก็มีชื่อเสียงทั้งนั้น ได้พูดถึงประเด็น “เราคือใคร?” ไว้อย่างน่าสนใจ โดย Robbins ได้ให้คำแนะนำถึง 3 ขั้นตอนที่ช่วยให้เรารู้จักตัวเองอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตามรายละเอียดต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 ตั้งเป้าหมายในชีวิต
โดยคนเรามีเป้าหมายในชีวิตอยู่ 6 เป้าหมายด้วยกัน คือ
1.ความแน่นอน ทั้งความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจ
2.ความไม่แน่นอน หมายถึง การสร้างความแตกต่างในชีวิต เช่น ออกจาก Safe zone การเปลี่ยนตำแหน่งงานใหม่ การท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่เคยไป เป็นต้น เพื่อสร้างสีสันในชีวิต และเรียนรู้ความแตกต่าง
3.ความสำคัญ การได้เป็นบุคคลสำคัญแสดงถึงความพิเศษของสถานะในสังคม แสดงถึงการได้รับการยอมรับ
4.ความรักและความสัมพันธ์ การอยู่ในสังคมอย่างโดดเดี่ยวเป็นเรื่องทรมานใจโดยธรรมชาติของคนเรา เพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสังคม ดังนั้นการที่เรามีคนรัก มีคนสนิทย่อมแสดงถึงการมีตัวตนในสังคม
5.การเติบโต หมายความรวมไปถึงการเติบโตทางร่างกาย สังคม และจิตใจ โดยธรรมชาติ ของสิ่งที่มีชีวิตย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและความปรารถนาของคนเราก็คือการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
6.การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นเป้าหมายที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า เพราะนอกจากเราจะใช้ชีวิตเพื่อตัวเองแล้ว เรายังสามารถใช้ชีวิตของเราในการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นอีกด้วย
ทีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่า เป้าหมายทั้ง 6 ที่เป็นพื้นฐานของทุก ๆ คน คืออะไร เราก็มาแปลงเป้าหมายทั้ง 6 ให้เป็นเครื่องมือในการค้นหาตัวตนของเราเองกันค่ะ โดยมี 3 วิธี ก็คือ
1.ทบทวนตัวเองผ่านความแน่นอน ความไม่แน่นอน การให้ความสำคัญ ความรักและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การเติบโตทั้งทางร่างกาย และจิตใจ รวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่น ว่าในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาเรามีสิ่งเหล่านี้อย่างไร ให้ความสำคัญอย่างไรกับเป้าหมายข้างต้น การที่เรามีและให้ความสำคัญนี่ละค่ะที่สะท้อนว่า “เราเป็นอย่างไร” เช่น
ความแน่นอนที่เรามี คือ ครอบครัวที่อบอุ่น
ความไม่แน่นอน คือ ความเจ็บป่วยของคนในบ้าน
ความสำคัญ คือ คนในครอบครัว
ความรักกับความสัมพันธ์ เทน้ำหนักให้คนในครอบครัว
การเติบโต คือ ความสามารถในการดูแลครอบครัวได้
การช่วยเหลือผู้อื่น คือ การให้คำปรึกษาผู้อื่นในเรื่องการดูแลครอบครัว
เป้าหมายทั้ง 6 ก็สะท้อนออกมาว่า เรา = คนรักครอบครัว ค่ะ
2.สังเกตว่าเวลาส่วนใหญ่ในชีวิต ถูกใช้ไปกับเป้าหมายไหนมากที่สุด เช่น ถ้าเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการทำงานเพื่อหาเงิน ชนิดที่ว่างานหลวงก็รับ งานราษฎร์ก็ไม่ให้เสีย ทำงานในเวลาไม่พอหาจ๊อบเสริมมาเพิ่มอีก ก็มีแนวโน้มสูงว่าคุณได้ให้ความสำคัญกับ “ความแน่นอน” “ความไม่แน่นอน” และ “การเติบโต” เพราะคุณกำลังสะสมเงินให้เยอะที่สุดเพื่อสร้างความแน่นอน ลดความไม่แน่นอน และเพื่อการเติบโตในชีวิต ซึ่งสามารถสะท้อนออกมาได้อีกว่า คุณ = ผู้สร้างความมั่นคงให้ตัวเอง ค่ะ
3.มองภาพที่ตัวเองอยากจะเป็นในอนาคต สิ่งที่เราอยากเป้นมาจากไหน ก็มาจากเป้าหมายที่เราต้องการไปถึงนั่นละค่ะคุณผู้อ่านค่ะ หากคุณต้องการไปให้ถึงเป้าหมาย “ความแน่นอน” และ “ความรัก กับความสัมพันธ์” โดยมีภาพตัวเองในอนาคตว่า “เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในความรัก มีความที่ยืนยาว” ก็สามารถสะท้อนได้ว่า คุณผู้อ่าน = คนที่ให้ความสำคัญกับชีวิตคู่ค่ะ
บทความแนะนำ “5 ข้อแนะนำสำหรับคนที่กำลังหาเป้าหมายชีวิต”
ขั้นที่ 2 การค้นพบแนวทางการบรรลุเป้าหมายในรูปแบบของเราเอง
เมื่อเรารู้จักเป้าหมายที่ขับเคลื่อนชีวิตแล้ว และได้ค้นพบความจริง เราก็จะพบแผนที่ ระบบความเชื่อที่บอกทางบรรลุเป้าหมายทั้ง 6 เป้าหมาย คือ
1.ความแน่นอน
2.ความไม่แน่นอน
3.ความสำคัญ
4.ความรักและความสัมพันธ์
5.การเติบโต
6.การช่วยเหลือผู้อื่น
โดยวิธีการบรรลุเป้าหมายของแต่ละคน ก็จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของแต่ละคน
ขั้นที่ 3 การค้นพบตัวตนของเรา
เมื่อเราได้เรียนรู้ว่าเป้าหมายที่หล่อหลอมเราว่ามีอะไรบ้าง เราจะค้นพบความแตกต่างของเรากับคนอื่นๆ ทั้งด้านความต้องการ รูปแบบการใช้ชีวิต และวิธีการไปสู่เป้าหมาย ซึ่งแต่ละคนก็จะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ที่แม้แต่คู่แฝดยังแตกต่างกัน
ทั้งนี้ เป้าหมายที่แท้จริงของการค้นพบตัวตนของเรา ไม่เพียงแต่จะตอบคำถามที่ว่า “เราคือใคร?” เท่านั้น การรู้จักตัวเองยังทำให้เราได้พิ่มการพัฒนาทั้ง 2 ด้าน คือ การเป็นผู้ให้ที่มากขึ้น และเป็นผู้รับที่มากขึ้น
ในด้าน “การเป็นผู้ให้ที่มากขึ้น” นั้น เพราะการให้คือสิ่งที่เติมเราให้เต็มในด้านจิตวิญญาณ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การให้ทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากว่าที่เคยมี เพราะนอกจากเราจะใช้ชีวิตเพื่อตัวเองแล้ว เรายังสามารถใช้ชีวิตของเราเพื่อผู้อื่นได้อีกด้วย และในด้าน “การเป็นผู้รับที่มากขึ้น” ก็เพื่อให้เราได้เห็นคุณค่าของชีวิต คุณค่าของคนรอบข้างที่ผลักดันเราไปสู่เป้าหมายในชีวิต
การที่จะค้นพบตัวเองตามขั้นตอนทั้ง 3 นั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน และต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการเรียนรู้มากพอสมควรทีเดียว ผู้เขียนจึงขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่กำลังค้นหาตัวเอง และเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเติบโตในชีวิตค่ะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
1. https://www.ted.com
2. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชฎัฏอุดรธานี. (ม.ป.ป.). เอกสารประกอบการสอน วิชาจิตวิทยาสำหรับครู. (ม.ป.ท.).
Comments