7 วิธีลาขาดจากโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
คุณกำลังเจอกับปัญหานอนไม่หลับ หลับยาก ตื่นง่าย หลับไม่สบาย ฝันร้าย หลับสนิทไม่รู้จักรึเปล่าคะ ปัญหาเหล่านี้หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจทำให้คุณเป็นคนกลัวเวลานอนไปเลย เพราะแทนที่จะได้พักผ่อน คลายสมอง กลายเป็นเครียดหนักกว่าเดิม เพราะพยายามที่จะนอนยังไงก็นอนไม่หลับ หากคุณเป็นอีกคนที่พบปัญหาเหล่านี้ บทความจิตวิทยาบทความนี้ จะมาบอกเคล็ดลับการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคนอนไม่หลับกันค่ะ
อาการแบบไหนที่บอกว่าเรากำลังเป็น “โรคนอนไม่หลับ”
เมื่อพูดถึงอาการ “นอนไม่หลับ” เชื่อว่าทุกคนย่อมเคยเป็นกันมาอย่างถ้วนหน้าแน่นอนค่ะ โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเจอกับสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง ไม่ว่าจะเป็นใกล้วันสอบ พรุ่งนี้มีสัมภาษณ์งาน หรือรู้ตัวว่าโป๊ะแตก ถูกจับโกหกได้ก็สามารถทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน หรือในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ตื่นเต้นมาก ๆ มีความสุขมาก ๆ เช่น อีก 2 วันจะแต่งงาน พรุ่งนี้ต้องไปทัศนศึกษาครั้งแรกในชีวิต มีเดทกับคนในฝัน สถานการณ์เหล่านี้ก็จะไปกระตุ้นให้สมองผลิตสารที่ชื่ออะดรีนารีน มากระตุ้นให้ร่างกายของเรา “ตื่น” อยู่เสมอค่ะ
แต่ในทางจิตวิทยาคลินิกมีข้อสังเกตให้พึงระวังว่าคุณกำลังเข้าข่ายป่วยเป็น “โรคนอนไม่หลับ” หรือ Insomnia อยู่ หากคุณมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันโดยไม่มีสาเหตุเป็นเวลาตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปค่ะ
1.นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ใช้เวลานานมากกว่า 30 ถึงจะสามารถนอนได้
2.หลับยาก นอนดึก ตื่นสาย
3.นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกตัว ตื่นขึ้นกลางดึก
4.ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อไปได้อีก
5.อ่อนล้า หมดแรง ไม่สดชื่น
6.ง่วงนอนตลอดเวลาในตอนกลางวัน นอนไม่หลับในตอนกลางคืน
7.ร่างกายอ่อนเพลีย ต้องการการพักผ่อน แต่ก็ยังนอนไม่หลับ หลับยาก
8.ไม่มีสมาธิ ทำงานผิดพลาด ความจำไม่ดี
หากคุณผู้อ่านสังเกตตัวเองแล้วเจอว่า มีอาการครบทั้ง 8 ข้อเลย แถมเป็นมานาน 1 เดือนแล้วอีกต่างหาก อย่างเพิ่งกังวลใจจนเกินไปค่ะ บทความจิตวิทยาฉบับนี้จะมาแนะนำวิธีการดูแลตัวเองค่ะ
ขั้นแรกเลยมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโรคนอนไม่หลับมีสาเหตุมาจากอะไร?
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ( American Psychiatric Association หรือ APA ผู้เขียนคู่มือ การวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต หรือ DSM ) บอกว่าสาเหตุของโรคนอนไม่หลับมาจาก 8 ปัจจัย ต่อไปนี้
1.สภาพแวดล้อมในขณะนอน ทั้งรูป กลิ่น เสียง แสง อุณหภูมิ
2.Jet lag และ การทำงานเป็นกะ
3.การหยุดยารักษาโรคซึมเศร้า
4.ความเครียด
5.โรคทางกาย
6.การกินยาบางชนิดที่มีผลต่อการกระตุ้นระบบประสาท
7.โรคทางจิตเวช
8.สารสื่อประสาทผิดปกติ
เมื่อรู้สาเหตุของโรคนอนไม่หลับกันแล้ว มารู้จักวิธีดูแลตัวเองฉบับง่ายสุด ๆ กันค่ะ
1.ฝึกวินัยการนอน นอนให้เป็นเวลา ไม่แอบงีบเวลากลางวัน ง่วงปุ๊บนอนปั๊บ
2.ไม่ดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเที่ยงวันไปแล้ว
3.หลีกเลี่ยงการใช้ยากระตุ้นระบบประสาทหลังบ่าย 3 โมง
4.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือทำกิจกรรมที่เราถนัดให้เหนื่อย ๆ ไปเลยค่ะ รับรองเลยว่านอกจากจะหลับง่ายแล้ว ยังจะไม่ฝันอีกด้วย
5.อย่าปล่อยให้ตัวเองหิวก่อนเข้านอน แต่อย่าทานอะไรที่มันหนักเกินไป เช่น ชาบู หมูกะทะ ขอให้งดก่อนนอนนะคะ เพราะนอกจากจะทำให้นอนไม่หลับแล้ว โรคกรดไหลย้อนก็จะมาเยี่มอีกต่างหาก
6.จัดห้องนอนให้เงียบ สงบ สบาย สะอาด ปลอดภัย มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีอุณหภูมิ แสง สี เหมาะสมสำหรับการนอน
7.งดคิดเยอะ คิดมาก หรือทำกิจกรรมตื่นเต้นก่อนนอน
บทความแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการทราบวิธีการนอนหลับแบบหัวถึงหมอนปุ๊บหลับปั๊บเลย “7 เคล็ดลับ หัวถึงหมอนปั๊บหลับปุ๊บ แก้ปัญหานอนไม่หลับอย่างได้ผล”
จริง ๆ แล้วก็มีทางลัดที่ง่ายกว่า 7 ข้อที่ว่ามา คือการใช้ยาช่วยให้นอนหลับ แต่ผลข้างเคียงเยอะเหลือเกินค่ะ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงเน้นที่การปรับพฤติกรรมมากว่าการใช้ยา ดังนั้นหากใครกำลังเครียดเรื่องอาการนอนไม่หลับ ลองใช้ 7 วิธีที่แนะนำไปด้านบนดูนะคะ รับรองเลยว่าช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับได้แน่นอนค่ะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง : 1.สุรชัย เกื้อศิริกุล. ปัญหาการนอนหลับ. กรกฎาคม 2548. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 225 – 230.
2. พบแพทย์. นอนไม่หลับ. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2562 จาก https://www.pobpad.com
تعليقات