3 วิธีรักษาโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
เปิดหัวข้อมาด้วยชื่อโรคภาษาอังกฤษแปลกๆ ว่า IMPOSTER SYNDROME ซึ่งหลายท่านจะเกิดความสงสัยว่ามันคืออะไรนะ แต่หากคุณผู้อ่านได้รู้ความหมายแล้วจะต้องร้องอ๋อ! กันอย่างแน่นอนค่ะ และเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านจะรู้สึกว่าเราเองก็เป็นโรคนี้อยู่นี่หน่า ซึ่งในบทความนี้จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการและวิธีรักษาโรค IMPOSTER SYNDROME ให้คุณผู้อ่านรับทราบกันค่ะ
โรค IMPOSTER SYNDROME คืออะไร?
IMPOSTER SYNDROME มีชื่อภาษาไทยที่แสนเข้าใจง่ายว่า “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” ซึ่งพบได้ตั้งแต่เด็กๆ วัยเรียนจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน และพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 25 – 45 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างตัว สร้างฐานะนั่นเอง ความอันตรายของโรคนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะการทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง (Low self estreem) แต่ยังนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้อีกด้วย
จุดกำเนิดของโรค IMPOSTER SYNDROME เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1978 โดยนักจิตวิทยา 2 ท่าน คือ Suzanne Imes และ Pauline Rose Clance ได้ศึกษาปรากฏการณ์ของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ลึกๆ แล้วกลับรู้สึกว่าไม่คู่ควร คิดว่าที่ตัวเองสำเร็จได้ก็เพราะโชคมากกว่าความสามารถจริงๆ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวทำให้ผู้คนเหล่านั้นหวาดระแวงกลัวว่าจะมีคนรู้ว่าเขาไม่เก่งจริง
การศึกษาดังกล่าวทำให้พบว่าอาการดังกล่าว มักเกิดขึ้นในเพศหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงเป็นหลัก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมทางสังคมที่เพศหญิงจะได้รับการยอมรับน้อยกว่าเพศชายนั่นเอง แต่ในยุคต่อๆมาก็พบว่าโรค IMPOSTER SYNDROME เป็นอาการที่เกิดได้กับคนทั่วไป
อาการของโรค IMPOSTER SYNDROME เป็นอย่างไร?
โรค IMPOSTER SYNDROME มีอาการของโรค 5 อาการ ดังนี้
1.กดดันตัวเอง
ตั้งมาตรฐานกับตนเองสูง คาดหวังว่าตนต้องประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง แต่ถ้าไม่สำเร็จเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด จะคิดว่าตัวเองไม่เก่งในสิ่งนั้นทันที และนำไปสู่การไม่กล้าคิด ไม่กล้าลงมือทำในเรื่องนั้นๆอีกเลย
2.เป็นยอดมนุษย์
ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพราะคิดว่างานที่ทำจะต้องทำได้ดีกว่านี้ จึงมองว่าสิ่งที่ทำยังดีไม่พอ คนประเภทนี้จะทุ่มเทให้กับงานอย่างมากมาย จนถึงขั้นแยกเวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวและเวลาทำงานออกจากกันไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวตามมาได้
3.ขาดความมั่นใจ
กลัวความผิดพลาด มักจะวิตกกังวลกับสิ่งที่กำลังเผชิญ และกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นคนที่เสียบุคลิกภาพ เพราะจะดูอยู่ไม่นิ่ง ดูไม่สมาร์ท กลายเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง
4.วันแมนโชว์
ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง คิดว่าตัวเองต้องทำได้ทุกอย่าง และเมื่อทำไม่ได้ก็จะคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เฝ้าโทษแต่ตนเองว่าถ้าเราเก่งกว่านี้เราคงทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จได้ จนนำไปสู่ความท้อถอย และถอดใจในการทำงานในที่สุด
5.ชอบอยู่ใน Comfort Zone
กลัวการเจอสิ่งใหม่ เมื่อทำงานประจำจนชิน จึงกลัวที่จะต้องเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น ยอมอยู่กับตำแหน่งเดิม ในที่เดิมๆ แม้จะรู้ว่าการไม่เปิดรับความเปลี่ยนแปลงจะทำให้ไม่เกิดความก้าวหน้าก็ตาม
การรักษาโรค IMPOSTER SYNDROME ทำได้อย่างไร?
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เสนอแนะแนวทางรักษาโรค IMPOSTER SYNDROME ง่ายๆด้วยตนเอง 3 วิธี ดังนี้
1.มองตัวเองในด้านบวก
โดยเริ่มต้นง่ายๆจากการนึกถึงตนเองในสิ่งดีๆ วันละ 1 อย่าง ทำต่อเนื่องทุกวัน เช่น ข้อดีของตัวเอง การทำสิ่งดีๆ การคิดหรือพูดสิ่งดีๆ ในแต่ละวัน วิธีการทบทวนเรื่องดีๆ ประจำวันนี้ จะช่วยให้เรากลับมาเห็นคุณค่าในตนเอง อันนำมาซึ่งความรักและการยอมรับในตนเอง จนทำให้เกิดความเข้าใจว่า จริงๆแล้วเรามีดีมากกว่าที่เราคิด
2.ฝึกการรับรู้และรู้จักความสามารถของตนเอง
การรับรู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการรู้จักความสามารถของตนเอง จะส่งผลให้ชีวิตของเราไม่สับสน รู้ว่าเรามีจุดแข็งหรือข้อดีอะไร และได้กลับมาภูมิใจในตนเองในแบบที่เราเป็นจริง เพราะเมื่อเรารู้จักความสามารถของเราแล้วและนำไปใช้ในการทำงาน เราจะสามารถเลือกทำงานที่เราถนัด เราจะสามารถทำงานออกมาได้ดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกดีๆ กับตนเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีความสุขในการทำงานมากขึ้นอีกด้วย
3. กลับมารับรู้ความต้องการและแรงปรารถนาของตนเอง
การหาความต้องการ หรือความปรารถนาของตัวเองให้เจอเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่เราจะทำอะไรได้ดี ต้องเริ่มจากการรู้ว่าเราชอบอะไร เราถนัดอะไร เราต้องการอะไร เมื่อเรารู้แล้วว่าเรามีเป้าหมายของชีวิต และความถนัดอย่างไรแล้ว จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่มีพลังในทางบวก เช่น มีความหวังว่าเราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ มีความรู้สึกรักตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างกล้าหาญมากขึ้น
โรค IMPOSTER SYNDROME หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการชีวิตอย่างมากค่ะ แต่ก็เป็นโรคที่เราสร้างมันขึ้นมาในใจของเราเอง และเราก็สามารถรักษาอาการของโรคให้หายไปด้วยตัวเราเองได้เช่นกัน ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่มีอาการของโรคนี้ในการค้นพบตนเองและเอาชนะความคิดที่ว่า “เราไม่เก่ง” ได้ในเร็ววันนะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
1.https://thematter.co/brief/imposter-syndrome-remedy/24237
2. https://www.ted.com/playlists/503/fighting_impostor_syndrome
3. https://www.jobbkk.com/variety/detail/5053
4. สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. บทความ “ความพึงพอใจในตนเองต่ำ” (Low Self estreem).
Comments