top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 วิธีอยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า


“โรคซึมเศร้า” ความหมายของโรคนี้ไม่ต้องพูดให้มากความกันแล้วถูกไหมคะคุณผู้อ่าน เพราะ ณ ตอนนี้มีบทความจิตวิทยา เพจทางด้านสุขภาพจิต หรือการเสวนาในหัวข้อ “โรคซึมเศร้า” ที่มีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” เต็มไปหมด

แต่เมื่อเราพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับ “การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” กลับมีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญน้อย จะมีที่เรียกว่าฮอต ๆ เลยก็จำพวกกระทู้ใน pantip ที่ส่วนใหญ่คนที่เข้ามาตอบจะใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาประกอบการตอบมากกว่าการนำประสบการณ์ หรือผลงานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญมาตอบ


อยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

สำหรับบทความเกี่ยวกับ “การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” นั้น ผู้เขียนเคยเขียนลง Istrong ไปแล้วเรื่องหนึ่ง คือ 5 เคล็ดลับการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยทางใจในครอบครัว ซึ่งพูดเกี่ยวกับวิธีการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยทางใจในครอบครัวอย่างปกติสุข แต่ในบทความดังกล่าวไม่ได้เจาะลึกเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับ “ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” ดังนั้น ในบทความนี้จึงเป็นการจัดหนักจัดเต็มเกี่ยวกับ “การใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” โดยการมาบอกเล่าถึง “วิธีเข้าถึงใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” กันค่ะ


การที่เราจะสามารถเข้าถึงความรู้สึก ความคิด และจิตใจของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้นั้น เราจำเป็นต้องเปิดใจรับฟังความรู้สึก ความคิด และจิตใจของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสียก่อน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของผู้เขียนค่ะ ที่มีโอกาสได้ฟังปาถกฐาใน www.ted.com ของชายผู้หนึ่งที่ไม่ได้เป็นคนดัง ไม่ใช่นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเฉพาะทาง แต่เขาเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า และได้ถ่ายทอดความรู้สึก ความคิด และจิตใจของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาให้เราได้ฟังกันค่ะ

Bill Bernat ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ชายคนที่ผู้เขียนพูดถึงอยู่นี้ ก็คือ Bill Bernat อดีตผู้ติดยาเสพติดที่มีโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) ร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้ได้ผันตัวเองมาเป็นนักพูดผู้สนับสนุนให้ผู้คนมีความตระหนักด้านสุขภาพจิต โดย Bernat ได้พูดถึงเรื่องการเข้าถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างน่าสนใจค่ะ Bernat ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความรู้สึกสิ้นหวัง และมีความลังเลใจว่าจะทำร้ายตัวเองให้มันพ้นจากโลกนี้ไปเลยดี หรือรักษาชีวิตไว้ก่อนเพื่อรักษาให้หายจากโรคซึมเศร้าดี แล้วชีวิตของพวกเขาก็จะวนเวียน ๆ อยู่ระหว่างสองแผนกในโรงพยาบาล คือ แผนกฉุกเฉินที่เข้าไปรักษาตัวจากการทำร้ายตัวเอง และแผนกจิตเวชที่รักษาโรคซึมเศร้า เหตุผลที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความคิดเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาเกิดความสงสัยในคุณค่าของตัวเอง ยิ่งมีคนนอกครอบครัว เช่น เพื่อนทั่วไป เพื่อนร่วมงาน หรือคนทั่วไป รู้ว่าพวกเขา “เป็นโรคซึมเศร้า” ยิ่งไปตอกย้ำว่าพวกเขาไม่มีคุณค่า


ดังนั้นแล้ว เพื่อให้คนที่เรารัก คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทของเรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และมีแรงจูงใจในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น Bernat จึงมีข้อแนะนำในการ “เข้าถึงใจของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า” ดังนี้ค่ะ


1.อนุญาตให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ระบายความคิด ความรู้สึกอย่างเต็มที่

ไม่ว่าคน ๆ นั้น จะป็นเพื่อน เพื่อนสนิท สามี ภรรยา ลูก หรือคนในครอบครัว หากเขาพร้อมที่จะพูด ขอให้คุณผู้อ่านรับฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสิน และไม่พูดแทรกค่ะ เพราะ Bernat ได้แชร์ความรู้สึกว่าการที่เขาได้บอกความรู้สึกที่จมดิ่งในความซึมเศร้า มันทำให้เขามีความรู้สึกดีขึ้นมาก


2.​มีมุมมองว่า “โรคซึมเศร้า” เป็นโรคที่เกิดได้ปกติ สามารถรักษาได้ หายได้ ใช้ชีวิตปกติได้

เมื่อคนรอบข้างของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปฏิบัติต่อพวกเขาเช่นปกติธรรมดาเหมือนตอนก่อนป่วย หรือพูดถึงโรคซึมเศร้าเหมือนโรคหวัด ภูมิแพ้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะเกิดความรู้สึกว่า “ฉันไม่ได้ผิดปกติ” แล้วก็จะตามมาด้วยแรงจูงใจว่า “เดี๋ยวมันก็หาย” และพวกเขาจะดูแลตัวเองดีขึ้นค่ะ


3.อย่าปิดกั้นสังคมจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ใช้ชีวิตร่วมกับผุ้ป่วยโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงค่ะ ดังนั้นหากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการออกไปพบปะเพื่อนฝูง ต้องการออกไปปาร์ตี้ หรือมาชวนคุณผู้อ่านไปเที่ยว สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาก็คือ เต็มที่ไปเลยจ้า เพราะการเข้าสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคซึมเศร้าที่ได้ผล สามารถลดความวิตกกังวล และลดการเกิดความคิดฟุ้งซ่านได้ดีกว่าปล่อยให้พวกเขาอยู่ตามลำพังแน่นอนค่ะ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อนที่ออกไปเจอต้องเปิดกว้างและมีแนวคิดเชิงบวกต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้านะคะ ไม่อย่างนั้นแล้วผลจะกลายเป็นตรงข้ามซึ่งจะแย่กว่าเดิม


4.อย่าพยายามหาคำตอบว่า “เพราะอะไรผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงเป็นเช่นนี้ ?”

แต่ให้เข้าใจในตัวตนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแทนค่ะ พูดง่าย ๆ ก็คือ อย่าไปตั้งคำถาม คาดคั้นให้พวกเขาตอบว่า “ทำไมคิดแบบนี้ละ ?” “ทำไมไม่ทำแบบนี้ละ ?” แต่ขอให้เปิดใจกว้าง ๆ แล้วทำความเข้าใจว่าพวกเขาต้องการอะไรกันแน่ แล้วเราสามารถช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง


5.อย่ายัดเยียดความคิดของเราไปให้เขา

การพูดคุยให้คำปรึกษาเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการค่ะ แต่การที่ไปบอกพวกเขาย้ำ ๆ ว่า เขาต้องทำอะไรแล้วชีวิตถึงจะดีขึ้น หรือการนำวิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่งไปใช้กับอีกคนหนึ่ง อาจจะไม่ได้ผลเสมอไป เพราะการรักษาโรคทางใจเป็นเรื่องของรายบุคคลค่ะ วิธีที่เป็นการรักษาดีเยี่ยมสำหรับคนหนึ่ง อาจจะเป็นการทำร้ายอย่างรุนแรงกับอีกคนหนึ่งได้เลย เพราะฉะนั้นคุณผู้อ่านต้องระวังในส่วนนี้ให้ดีนะคะ


6.ยอมรับข้อจำกัดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

อย่างที่คุณผู้อ่านทราบกันดีค่ะว่าพวกเขามีข้อจำกัดใหญ่ ๆ ข้อหนึ่งเลย ก็คือ ความมั่นคงของอารมณ์ บางครั้งเห็นเขาหัวเราะกับเราเรื่องหนึ่งอยู่ดี ๆ ซักครู่หนึ่งอาจเห็นเขาหลบไปร้องไห้อยู่คนเดียวแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นแล้วอย่าคาดหวังว่าพวกเขาจะอารมณ์ดีตลอดเวลา แต่ขอให้อยู่เคียงข้างพวกเขาอยู่เสมอแทนค่ะ


7.ให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ามามีกิจกรรมร่วมกับคุณผู้อ่าน

เช่น ทำงานบ้าน กินข้าว ดูภาพยนตร์ เอาเป็นว่าก่อนเขาป่วยเราเคยทำอะไรร่วมกันก็ขอให้ลองชวนเขามาทำกิจกรรมนั้นเหมือนเคยนะคะ เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวันง่าย ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ “สร้างความหมายในการมีชีวิต” ให้กับพวกเขา และทำให้พวกเขารู้สึกว่า “ฉันไม่ใช่ตัวประหลาด”


ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

มีรุ่นพี่ที่เป็นนักจิตวิทยาท่านหนึ่งพูดกับสามีของผู้เขียนซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของพี่เขาว่า “การออกไปนอกบ้านสำหรับเราน่ะเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นคือการเอาชนะตัวเองที่ยิ่งใหญ่” ความหมายที่พี่เขาสื่อก็คือ อะไรที่เราเห็นว่าง่าย ที่เราทำได้ อย่าคาดหวังว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จะทำได้เหมือนเดิม เพราะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายในสมองของพวกเขาที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และรูปแบบการใช้ชีวิต ดังนั้นแล้วการช่วยที่ดีที่สุดคือการอยู่เคียงข้างในทุกสถานการณ์และเปิดใจรับฟังความรู้สึก ความคิดและจิตใจของพวกเขาค่ะ

 

iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย Contact : https://www.istrong.co/service

 

อ้างอิง :

Bill Bernat. November 2017. How to connect with depressed friends. [Online]. https://www.ted.com/talks/bill_bernat_how_to_connect_with_depressed_friends/transcript

コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page