7 วิธีค้นหาตัวตน สำหรับคนที่ไม่รู้จักตัวเอง
การ “ไม่รู้จักตัวเอง” นี้นับว่าเป็นปัญหาของคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในวัยรุ่น และวัยทำงาน ที่พอไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร เลยไม่รู้ว่าจะพาชีวิตไปทางไหน สิ่งที่ตามมาก็คือเปลี่ยนสายการเรียน หรือที่เรียกว่า “ซิ่ว” บ่อยมาก และจำนวนหนึ่งก็ถอดใจไม่เรียนต่อเสียเลย หรือที่เรามักได้ยินว่า “เด็กรุ่นนี้ไม่อดทน เปลี่ยนงานบ่อย” นั่นอาจไม่ใช่เพราะเค้าทนแรงกดดันในที่ทำงานไม่ได้ แต่อาจเป็นเพราะเขาไม่รู้จักตัวเองก็ได้ค่ะ
การไม่รู้จักตัวเองเป็นภาวะที่หากทิ้งไว้นานจะทำให้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งเป๋ไปอย่างน่าเสียดาย แถมยังพาโรคทางจิตเวชยอดฮิตอย่างโรคซึมเศร้าเข้ามาในชีวิตอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นแล้ว เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ผู้เขียนจึงขอนำความรู้ทางจิตวิทยา รวมเป็น 7 วิธีการใช้ชีวิต พิชิตภาวะไม่รู้จักตัวเองที่เหมาะสำหรับทุกวัย ให้ได้อ่านกันค่ะ
1.สปอยด์ให้น้อยลง ส่งเสริมให้มากขึ้น
สปอยด์ให้น้อยลง หมายความว่า เอาแต่ใจตัวเองให้น้อยลง ในเคสเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปรับในเรื่องเอาใจในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลกับลูกให้น้อยลง แล้วหันมาส่งเสริมการออกไปทำกิจกรรมที่ได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะ ไปสมัครคอร์สสัมมนาที่น่าสนใจให้มากขึ้น หรือสำหรับส่งไปเข้าแคมป์กับเพื่อน ๆ ก็เป็นอีกทางที่จะส่งเสริมให้เขารู้จักตัวเองได้ดีทีเดียวค่ะ
2.สร้างจุดเด่น กลบจุดด้อย
ในทางจิตวิทยาเชิงบวก ให้แนวคิดในการรู้จักตัวเองเอาไว้ว่า ขอให้คุณลืมไปก่อนว่าคุณมีจุดด้อยอะไร แล้วมาดูกันว่าคุณจะสร้างจุดเด่นตรงไหนขึ้นมาได้บ้าง วิธีการสร้างก็คือ ลองทำอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพื่อให้ตัวเองได้รู้ว่าเราชอบสิ่งที่ทำไหม เช่น ถ้าคุณถูกล้อว่าคุณไม่สวย ก็ไปลงคอร์สสอนแต่งหน้าเลยค่ะ เอาให้รู้กันไปว่าฉันก็สามารถกลายเป็นนางฟ้าได้ หรือคุณน้ำหนักเยอะจนถูกล้อว่าพี่หมี ก็ไปเรียนทำอาหารเสียเลย กินเก่งได้ก็ทำอาหารเก่งได้จริงไหมคะ เอาละ ทีนี้จะรออะไร ออกไปหาอะไรทำกันเลยค่ะ
3.ใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น
Alfred Adler นักจิตวิทยาคนดังบอกไว้ว่า “เด็กที่ถูกทิ้งจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่รังเกียจตัวเอง เพราะเขาเข้าใจว่าทุกคนรังเกียจเขา” ผู้ใหญ่ที่ไม่ใส่ใจตัวเองก็เช่นกันค่ะ ยิ่งไม่รักตัวเองก็ยิ่งจะใช้ชีวิตแบบไม่รู้จักตัวเอง และการใช้ชีวิตแบบไม่รู้ว่าฉันเกิดมาเพื่ออะไรก็จะยิ่งทำให้ชีวิตออกทะเลไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นแล้ว หากต้องการรู้จักตัวเองก็ต้องใส่ใจตัวเองให้มากขึ้นค่ะ พาตัวเองออกไปทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น ออกกำลังกาย เจริญสติ ทำงานศิลปะ พาตัวเองออกไปกินอาหารดี ๆ ออกไปเจอคนดี ๆ ไปเจอสถานที่ดี ๆ แล้วสิ่งดี ๆ ก็จะเข้ามาเองค่ะ
4.สร้างแรงจูงใจใฝ่สร้างตัว
คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า “แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์” กับ “แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์” กันมาบ้างนะคะ วันนี้ขอแนะนำคำใหม่ คือ “แรงจูงใจใฝ่สร้างตัว” หรือ Creative Self แรงจูงในประเภทนี้เกิดมาจาก Alfred Adler นักจิตวิทยาจากข้อด้านบนนั่นเอง เป็นแรงจูงใจที่จะใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ให้สมกับที่ได้เกิดมาชีวิตหนึ่ง ซึ่งแรงจูงใจตัวนี้จะช่วยทำให้เรารู้จักตัวเองได้อย่างดีเลยค่ะ วิธีสร้างแรงจูงใจทำได้ด้วยการเห็นคุณค่าของชีวิต ให้เกียรติตัวเอง รักตัวเองค่ะ ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความจิตวิทยาได้ที่ “การเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) ช่วยป้องกันเราจากโรคซึมเศร้าได้” ค่ะ
5.ค้นหาตัวตนด้วยการเข้าใจตัวเอง
วิธีนี้นำมาจากทฤษฎี Psychosocial Stage ของนักจิตวิทยาชื่อดังอีกท่าน คือ Erik Erikson ที่ได้พูดถึงการค้นหาตัวตนไว้ในขั้นที่ 5 ของพัฒนาการ (Identity vs. Identity Diffusion) ไว้ว่า คนที่จะรู้จักตัวเองจริงก็คือคนที่เข้าใจตัวเอง เข้าใจว่าชีวิตต้องการอะไร เข้าใจว่าตัวเองมีเป้าหมายอะไร เข้าใจว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร ซึ่งการที่จะ “เข้าใจตัวเอง” นั้น ก็ทำได้ด้วยการออกไปเผชิญโลกเพื่อเก็บประสบการณ์ชีวิต แต่คุณผู้อ่านไม่ต้องถึงขั้นไปเที่ยวรอบโลกตามลำพังนะคะ เอาแค่ออกไปเที่ยวบ่อย ๆ ออกไปสัมมนา ออกไปพบปะวงสังคมที่น่าสนใจ หรือในกรณีเด็ก ๆ ก็พาออกไปเที่ยวบ่อย ๆ ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนเยอะ ๆ เท่านี้ก็จะ ช่วยสร้าง “ความเข้าใจตัวเอง” ได้แล้วค่ะ
6.เพิ่มพลังบวก
โดยการคิดเชิงบวก พูดเชิงบวก และอยู่ใกล้คนที่ทำให้ความรู้สึกเป็นบวก เพื่อทำให้เรามีพลังบวกในการรู้จักตัวเองมากขึ้น มาที่สิ่งแรก “คิดบวก” ก็คือ การมองโลกในแง่ดี การใช้ชีวิตในทางที่ดี ถึงแม้สถานการณ์จะแย่แต่เราก็ยังมีสติมากพอที่จะแสดงออกในสิ่งที่ดี ซึ่งสามารถ อ่านเพิ่มได้ที่ “12 วิธีฝึกคิดบวก ไม่ได้ยากอย่างที่คิด” สำหรับการ “พูดบวก” หรือเรียกสวย ๆ ว่า “สุนทรียสนทนา” ก็คือ การเรียนรู้ที่จะฟังให้ลึกซึ้ง ฟังผู้อื่นอย่างเข้าใจ ก่อนจะตอบด้วยคำพูดที่สร้างสรรค์ คำพูดที่เสริมกำลังใจ คำพูดที่ฟังแล้วรู้สึกมีพลัง เช่น เรื่องของคุณมีคุณค่ามาก หรือฟังดูแล้วคุณดูผ่านอะไรมาหนักมาก ๆ คุณแกร่งจริง ๆ ที่ทำได้ เป็นต้นค่ะ และสุดท้าย “อยู่ใกล้คนที่ทำให้ความรู้สึกเป็นบวก” ก็คือการอยู่ในวงสังคมที่ดี อยู่ใกล้คนดี อยู่ใกล้คนที่คิดบวด พูดบวก แล้วเราก็จะมีแต่เรื่องบวก ๆ เข้ามาในชีวิตค่ะ
7.อย่าทิ้งความฝัน
ความฝันในทางจิตวิทยาเป็นตัวบ่งบอกถึงตัวตนในอุดมคติ หรือสิ่งที่เราต้องการจะเป็น ซึ่งการที่เรายังคงมุ่งมั่นทำตามความฝันก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักว่าเราต้องการจะเป็นใคร และรู้จักที่จะพัฒนาตัวเองให้ไปถึงภาพฝันที่เราวาดไว้ค่ะ ถึงแม้ว่าชีวิตจริงจะทำให้ความฝันของเราเลือนลาง แต่ขอให้คุณผู้อ่านเก็บความฝันไว้ให้ดีนะคะ เพราะอย่างน้อยความฝันก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เราใช้ชีวิตอย่างที่เราต้องการค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 7 วิธีที่แนะนำมาสามารถทำตามได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ซึ่งรับรองเลยว่าหากคุณผู้อ่านทำครบทั้ง 7 วิธีอย่างต่อเนื่อง คุณผู้อ่านจะรู้จักตัวเองได้ดีกว่าเดิมมากขึ้นเลยค่ะ และจะทำให้ชีวิตของคุณผู้อ่านมีทิศทางชัดเจน และมีความสุขกับการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นแน่นอนค่ะ พบกันใหม่บทความหน้านะคะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง : ศรีเรือน แก้วกังวาล. 2551. ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ (รู้เรา รู้เขา). พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน. หน้า 49 – 50, 52 – 62, 67 และ 98 – 99.
Comments