top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

สถานการณ์อคติทางเพศ และ 5 คำแนะนำปลูกฝังความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว


เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือความเสมอภาคทางเพศ ถือว่าเป็นประเด็น Hot Issue ของสังคมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ “การปกป้องประชาชนไทยจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ”



แต่เพราะอะไรที่ยังทำให้เราเห็นการปฏิบัติในลักษณะเหยียดเพศ ซึ่งไม่ใช่แค่ชายเหยียดหญิง หญิงเหยียดชาย ยังมีการลุกลามบานปลายไปถึงหญิงชายเหยียดผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดอีก


ไม่ใช่แค่ในไทย แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก



การเหยียดเพศ หรือการปฏิบัติไม่เท่าเทียมทางเพศ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศแถบเอเชียเท่านั้น แต่ในประเทศที่ดูเหมือนจะเสรีอย่างประเทศสหรัฐอเมริการ ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ขนาดใหญ่ของโลก คือ Hollywood โดย Stacy Smith นักแสดงและนักวิจัยเรื่องบทบาททางเพศในวงการภาพยนตร์ เคยบรรยายในเวที TED Women 2016 ในหัวข้อ “ข้อมูลเบื้องหลังการเหยียดเพศของฮอลลีวูด” เธอกล่าวว่า


ในปี ค.ศ. 2016 จะพบว่าสถาณการณ์ความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหามากขึ้น จากภาพยนตร์ 100 เรื่องที่ทำเงินสูงสุดของปี พบว่า จำนวน 48 เรื่อง ไม่มีตัวละครหญิงที่มีบทที่เป็นชาวแอฟริกัน - อเมริกัน จำนวน 70 เรื่อง ไม่มีตัวละครหญิงที่มีเชื้อชาติหรือเป็นชาวเอเชียที่มีบทพูดเลย ภาพยนตร์ 84 เรื่อง ไม่มีตัวละครเพศหญิงที่พิการเลย และ ภาพยนตร์ 93 เรื่อง ที่ไร้ซึ่งตัวละครที่เป็นเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือแปลงเพศเป็นหญิงเลย


อีกทั้งค่าตอบแทนของนักแสดงหญิงกับนักแสดงชายก็มีความแตกต่างกันมาก โดยครั้งหนึ่ง Jennifer Lawrence นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกผ่านเว็บไซต์ www.lennyletter.com ถึงกรณีที่เธอได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยกว่าเพื่อนนักแสดงชายในภาพยนตร์ดัง American Hustle และมีนักแสดงชื่อดังจำนวนมาก เช่น Emma Watson, Jessica Chastain, Elizabeth Banks ที่แสดงตัวสนับสนุน Lawrence



สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นยังไง


ต้องยอมรับกันก่อนว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลเรื่องค่านิยม“ชายเป็นใหญ่” (patriarchy) ซึ่งเป็นค่านิยมที่พัฒนามาจาก “ปิตาธิปไตย” (Paternalism) ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยยังเป็นราชธานีกันเลย โดย “ปิตาธิปไตย” เป็นคำที่ถูกใช้แทนการปกครองของรัฐบาลที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำโดยในสมัยสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์เป็น "พ่อขุน" และมีประชาชนเป็น "ท่วย" หรือ "ไพร่ฟ้า" เพราะฉะนั้น กษัตริย์ในฐานะ “พ่อ” จึงสามารถใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองลูกได้


ด้วยเหตุนี้ ชายไทยส่วนใหญ่จึงได้รับการสืบทอดมาว่า ต้องมีความเป็น “พ่อ” ต้องปกป้องคุ้มครองผู้ที่อยู่ในความปกครอง (ลูก ภรรยา ผู้ใต้บังคับบัญชา) และแน่นอนว่า “พ่อ” ย่อมมีอำนาจในการปกครองบุคคลที่กล่าวมาได้อย่างชอบธรรม จึงเห็นได้ว่า ตำแหน่งสำคัญในประเทศไทย เช่น ตำแหน่งทางทหาร ผู้นำประเทศ ช่างหาเพศหญิงได้ยากนัก แต่ที่ยากกว่าคือบุคคลข้ามเพศ ที่นอกจากจะไม่ได้รับโอกาสในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญแล้ว ยังไม่ได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนในบางสังคมด้วยซ้ำ


สำหรับสถานการ์ความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในทางบวกโดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในที่ประชุมสหประชาชาติ เรื่องการปรับปรุง การพัฒนากฏหมาย เพื่อส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยแสดงให้ต่างประเทศได้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันการออกกฏหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล


หรือเมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แกนนำเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา เครือข่ายเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่เคยถูกกระทำด้วยความรุนแรง ประมาณ 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรียกร้องให้เพิ่มหลักสูตรความเสมอภาคระหว่างเพศ และบรรจุในตำราการเรียนการศึกษา ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนหลายๆ อย่างในหลักสูตรการเรียนให้ทันสมัยขึ้น รวมถึงแนวคิดการให้เกียรติและความเสมอภาคแก่ทุกเพศ รวมถึงการเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ


อีกทั้งเครือข่ายกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTI and Non-binary) ประเทศไทยก็ได้มีบทบาทมากขึ้น เช่นการร่วมจัดงานรำลึก 10 ปี วันหลากหลายทางเพศขึ้น ในปีนี้เช่นกัน


ความเท่าเทียมทางเพศเริ่มได้ในครอบครัว


อย่างไรก็ตาม บุคคลที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและความคิดของคนแต่ละคนมากที่สุดคือพ่อแม่ผู้ปกครองนั่นเอง ดังนั้น ทัศนคติและมุมมองของคุณพ่อคุณแม่เองนั้นต้องเริ่มปรับให้ถูกต้องก่อน แล้วสิ่งเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอด ส่งต่อไปยังลูกๆ โดยที่ยังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ทำการศึกษาและรวบรวมข้อเสนอแนะเรื่องการปลูกฝังความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัว มาฝากดังนี้


1. ครอบครัวไม่ควรยัดเยียดความเป็นเพศหญิงหรือชายให้กับลูกมากเกินไป โดยไม่ดูความถนัด เช่น บังคับให้ลูกผู้หญิงต้องสนใจด้านความสวยความงามเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ลูกสาวของคุณอาจสนใจเรื่องการเขียนโค้ด โปรแกรมคอมพิวเตอร์มากกว่าก็ได้


2.ครอบครัวต้องสื่อสารเสมอว่า ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ผู้ชายไม่ได้เก่งกว่าผู้หญิงทุกเรื่อง ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้ หรือเพศที่หลากหลายก็ไม่ใช่ความผิดปกติหรือตัวประหลาด แต่ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน


3.กรณีที่ลูกมีแนวโน้มเบี่ยงเบนหรือมีประเด็นเรื่องเพศที่หลากหลาย พ่อแม่ควรตั้งสติและต้องให้คำปรึกษาได้ พ่อแม่อาจต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องเพศภาวะในสังคม สามารถหาทางออกที่เหมาะสมที่เป็นไปได้


4.เมื่อลูกโตเขาสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามในทางชู้สาว พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกทั้งผู้หญิงและผู้ชายในการพูดคุยอย่างเปิดเผยในเรื่องเพศ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยอันควร ความรับผิดชอบต่อการมีเพศสัมพันธ์ สุขภาพอนามัยส่วนตัว การเคารพสิทธิของอีกเพศหนึ่ง ไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรงที่คิดว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิงที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป


5.พ่อและแม่ต้องปลูกฝังทัศนคติเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคู่ของลูก รักเดียวใจเดียว มีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ไม่เอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งในการกระทําที่เปิดเผยและในความรู้สึก ซึ่งพ่อแม่เองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกเช่นกัน


ในมุมมองของผู้เขียน สถานการณ์ความไม่เท่าเทียม อคติ และการกีดกันทางเพศยังคงมีต่อไป แต่จะลดลงเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ซึ่งคนเราก็ต้องปรับตัวให้ก้าวทันโลก และพ่อแม่กลายเป็นบุคคลที่สำคัญมากที่สุดในการปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเหล่านี้ให้กับลูกๆ ของคุณ


 

อ้างอิง :

  1. https://www.ted.com/talks/stacy_smith_the_data_behind_hollywood_s_sexism/transcript?language=th

  2. https://gossipstar.mthai.com/hollywood/inter/52939

  3. ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. 2552. อ้างถึงใน พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ม.ร.ว. ประกายทอง สิริสุข และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (ผู้แปล). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

  4. https://www.youtube.com/watch?v=592wQbhR2Po

  5. https://mgronline.com/qol/detail/9610000118601

  6. https://prachatai.com/journal/2018/11/79836

  7. https://www.thairath.co.th/content/819286

  8. เพ็ญประภา ภัทรานุกรม. 2016. ความเหลื่อมล้ำทางเพศภาวะ: “ปัญหาความรุนแรง” ข้อท้าทายและทางออก. Journal of Social Development Vol. 18 Special Issue. หน้า 107 -136.

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page