ชำแหละความคิดโรคซึมเศร้า รู้เพื่อป้องกันคนใกล้ตัว คิดสั้น อยากตาย
"อยากตาย"... ถ้าหากคุณได้ยินคำคำนี้ จากปากคนใกล้ตัว โปรดสังเกตอาการและพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด เพราะในยุคสมัยที่ค่านิยม ความคาดหวัง กดดันจากสังคมที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้คนใกล้ชิดของคุณ รู้สึกไร้ซึ่งความสุข เต็มไปด้วยเรื่องทุกข์ใจและอาจเกิดภาวะของโรคซึมเศร้า จนถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้
“อยากอยู่ก็ไม่ได้ อยากตายก็ไม่สามารถ”
คำขู่สุดคลาสสิกจากนิยายกำลังภายในที่คงไม่มีใครอยากจะจินตนาการถึงนักว่า คนในเรื่องจะถูกทรมานสาหัสขนาดไหน เพราะเราทุกคนรู้ดีจากก้นบึ้งของหัวใจว่าไม่มีใครอยากตาย เว้นแต่ความเจ็บปวดนั้นแสนสาหัสจนเกินกว่าจะรับไหว สาหัสจนการตายยังเรียกว่าเป็นความปรานีอย่างที่สุดต่อผู้พบพาน
ปี 2018 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกบอกว่าคนทั่วโลกเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน มีคนฆ่าตัวตายเพราะโรคนี้อย่างน้อยปีละ 800,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนติด 5 อันดับโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์
มากที่สุดไปแล้ว
“ชีวิตเราไม่มีความหมาย
ถึงเราทำอะไรให้ใครตอนนี้สุดท้ายเขาก็ต้องตาย
การตายวันนี้หรือตายอีก 40 ปีข้างหน้าก็ไม่ต่างกัน
ถ้าอยู่แล้วทรมาน ให้เราตายวันนี้เลยง่ายกว่า”
คำพูดของวรดา เอลสโตว์ บนเวที TEDxThammasart ที่บอกเล่าความคิดของตัวเองก่อนจะรับการรักษา คำพูดสั้น ๆ ที่บอกความคิดของคนเป็นซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เพราะหากเราลองแกะรหัสนี้ออกมาแล้วเราจะพบสองสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตผู้ป่วยลงสู่ปากเหวของความอยากตายนั่นคือ
“ชีวิตที่ไม่มีความหมาย” และ “การอยู่อย่างทรมาน”
ชีวิตที่ติดหล่มความคิด
อย่างที่เรารู้กันดีว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ ความเครียด ความกดดันเรื้องรังในชีวิตทำให้สารต่างๆ ในร่างกายเช่น โดปามีน เซโรโทนิน ค่อย ๆ หายไปจนหาความสุขในชีวิตไม่พบ
แต่มากกว่าเคมีที่ผิดเพี้ยนไป การใช้ชีวิตอยู่กับความเครียด ความผิดหวังอย่างรุนแรง การสูญเสีย ความรู้สึกผิดซ้ำ ๆ อย่างไร้ทางออกนั้นยังเหมือนมะเร็งที่คอยกัดกินจิตใจให้ตายลงไปทีละน้อย ไม่ต่างกับตัวละครในนิยายกำลังภายในที่ถูกทรมานจนอยากอยู่ก็ไม่ได้
“จำได้ว่าเป็นก็ ม.5 ค่ะ หนูดูเป็นคนร่าเริงใช่ไหมคะแต่จริง ๆ ชอบโทษตัวเองตลอด”
- ปิ๋ม หญิงสาววัย 28 บอกเล่าเรื่องการเป็นโรคซึมเศร้าของตัวเอง -
“รู้สึกตัวเองคือตัวปัญหา
ไม่มีใครโทษหนูนะคะแต่หนูโทษตัวเองตลอดเวลา
ความคิดจะวน ๆ เอาออกไม่ได้ เหมือนคนย้ำคิดย้ำทำ
ยิ่งเราจมกับความคิดมันก็ดิ่งจะลง ดิ่งลงเรื่อย ๆ
รู้ตัวอีกทีก็หาทางออกไม่เจอแล้ว พอคิดอย่างอื่นไม่ได้เลยอยากหายไป
ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าไม่มีเราทุกอย่างคงดีกว่านี้”
หนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือทำให้อาการซึมเศร้านั้นรุนแรงขึ้น คือคนใกล้ชิด ความไม่เข้าใจ การทอดทิ้งให้คนคนหนึ่งแบกรับภาระเพียงลำพังนั้นคือทัณฑ์ทรมานไม่ต่างกับยักษ์แอตลาส ที่ถูกลงโทษให้แบกโลกไว้ทั้งใบ เพียงแต่เราไม่ใช่แอตลาสผู้มีกำลังมหาศาล เราเป็นมนุษย์ตัวเล็กที่พร้อมจะหมดแรงแล้วโดนโลกทับตายได้เสมอหากไม่มีคนช่วยแบ่งเบา
เมื่อการชีวิตคือความทรมาน
“เจอปัญหาที่ทำงานสะสม คือเช้ามาทำงานต้องเจอทุกวันซ้ำ ๆ เรื่องเดิม
ตอนนั้นรู้สึกว่ามันล้า มันไร้ค่า มองไม่เห็นทางออก
ถ้าหลับไปเลยคงดีกว่าที่จะตื่นขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาที่เราแบกไว้คนเดียว
มันไร้แสงสว่างจนคิดว่าถ้าเราหลับไปเลย ปัญหาที่เจอจะได้จบสิ้นลงสักที”
นี่คือสิ่งที่คุณปุ้ม ข้าราชการวัย 37 ปีได้บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่คิดจะปลิดชีวิตตัวเองเพราะปัญหาที่แบก
ไว้เกินกว่าจะรับไหว การต้องเจอกับปัญหาเดิม ๆ คอยบีบจิตใจทุกวัน ก็ไม่ต่างกับการถูกกรีดลงแผลเดิมซ้ำ ๆ โดยไม่มีทางหาย
การต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างทรมานทุกวันอยากหนีก็ไม่ได้เพราะภาระค่าใช้จ่ายทางบ้าน อยากเผชิญหน้าก็จิตใจก็ถูกทำร้ายจนสิ้นแรง อยากได้พี่พักใจกลับไม่มีคนเข้าใจและรับฟัง จนเกิดความรู้สึกอยากตาย
ขึ้นในที่สุด
“คนที่คิดฆ่าตัวตายคือคนที่ภูมิคุ้มกันหัวใจและสติบกพร่อง
บางทีการรับฟังถือเป็นอีกทางเลือกให้กับคนเหล่านี้ แม้ว่ากำลังใจที่ดีที่สุดคือตัวเอง
แต่บางคนตัวเองยังอ่อนแอ คนข้างกายจึงถือว่าสำคัญมาก
ฉะนั้นคนในครอบครัวหรือใกล้ชิดจึงควรเข้าใจ”
- ข้อความจากหญิงผู้ผ่านความรู้สึกอยากตายมาได้ที่ฝากเอาไว้ก่อนจากกัน -
รู้สึกไร้ค่าเกินกว่าจะมีชีวิต
“จากคนในครอบครัวและคนรักค่ะ
มันเลยทำให้เรื่องงานเริ่มมีปัญหาไปด้วย
ช่วงที่มีอาการนี่คือควบคุมความคิด ควบคุมตัวเองไม่ได้เลย
ไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากได้ยินเสียงใคร
เราคิดวนไปซ้ำไปซ้ำมาอยู่บ่อยครั้ง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และเป็นตัวปัญหามาก
เราไม่ได้อยากที่จะจมอยู่กับกับปัญหานะคะ แต่มันหาออกไม่ได้
ความรู้สึกว่าอยากจบปัญหาที่เข้ามามีทุกวัน
เราจึงเตรียมตัวเสมอว่าจะจบชีวิตยังไงดี ถึงขนาดหาข้อมูลไว้ด้วย
ตอนนั้นที่คิดไว้คือทำให้ขาดอากาศหายใจค่ะ
มียานอนหลับไว้ด้วยจะได้หลับแล้วตายแบบไม่ทรมาน
เราจะมีอุปกรณ์ และยาเตรียมไว้เสมอ พอเวลามีอะไรมากระทบนิดหน่อยเราก็พร้อมจะทำทันที”
- คำบอกเล่าประสบการณ์เคยคิดอยากตายจากคุณกระแต -
“ตอนที่รู้สึกไม่ไหวแล้ว เราต้องจบปัญหา ต้องออกจากวังวน
เรานึกถึงเพื่อนคนหนึ่งขึ้นมา
ความจริงเราแค่อยากบอกว่าขอบคุณ...รักแกนะ
ไม่ได้ตั้งใจจะบอกลาเลย แต่เขาคงเอะใจบางอย่างเลยจะมาหา
ตอนนั้นก็พยายามปฏิเสธไป แต่เพื่อนไม่วางสายค่ะ
ถามนี่นั่นอยู่ตลอด เราวางสายไปก็จะโทรมาอีก
พอเขามาถึง เรายืนร้องไห้หนักมาก ๆ แต่เพื่อนก็ไม่ได้คาดคั้นหาสาเหตุ
แค่เดินมากอดแล้วชวนไปกินข้าวค่ะ
จำได้ว่าประโยคนึงที่ทำให้เรารู้สึกว่าจะไม่ทำแล้ว
คือเพื่อนบอกว่า เขาพยายามอ่านบทความ สอบถามจิตแพทย์
แล้วอยากให้เราช่วยเขาด้วย เพื่อที่จะจับมือผ่านเรื่องราวร้าย ๆ ไปด้วยกัน”
หนึ่งบทเรียนสำคัญที่คุณกระแตได้บอกเราเอาไว้คือคนที่อยากตายมักส่งสัญญาณถึงคนที่เขาวางใจที่สุด แม้ว่าความรู้สึกไร้ค่าและไม่มีทางออกในชีวิตจะผลักให้เกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย แต่ในอีกส่วนลึก ๆ นั้นยังคงหวังว่าจะมีใครสักคนเข้าใจและยื่นมือเข้ามาเสมอ เพราะฉะนั้นอย่าได้เพิกเฉยแม้สัญญาณเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนเป็นซึมเศร้าส่งให้เป็นอันขาด
เข้าใจ ไม่ละเลย
หากจะเปรียบแล้ว โรคซึมเศร้านั้นไม่ต่างจากแว่นกรอบหนึ่งที่ถูกสวมลงไปในจิตใจของคนป่วยทำให้
คนเป็นซึมเศร้าไม่สามารถมองโลก และใช้เหตุผลความคิดเหมือนคนทั่ว ๆ ไปได้ สิ่งที่เขาเห็นมีเพียงเขาวงกตของความทุกข์ ที่หาทางออกไม่เจอ
ทั้งหมดจึงไม่ใช่การคิดสั้น เพราะกว่าจะมาจนถึงความรู้สึก "อยากตาย" นั้น ผ่านการคิดและความทรมานมานานแล้ว
ไม่ใช่ไม่เห็นใจพ่อแม่ ไม่ใช่อ่อนแอ แต่เพราะการมองโลกที่ถูกเปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นตัวถ่วงมากกว่ามีประโยชน์
สิ่งที่ผู้ป่วยเป็นซึมเศร้าต้องการมากที่สุดจึงไม่ใช่คำตัดสิน คำพิพากษา หรือคำสั่ง คำชี้แนะใด ๆ แต่คือมือมือหนึ่งที่ยื่นมาจับมือเขาไว้ พร้อมรับฟังความเจ็บปวดของเขาอย่างเต็มใจ แล้วค่อย ๆ ประคับประคองเพื่อออกจากเขาวงกตไปด้วยกัน ก่อนที่เสียงของเขาในวันนั้นจะกลายเป็นเสียงสุดท้ายในชีวิตที่คนรอบตัวมีโอกาสได้ฟัง
____________________________________________________
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Commentaires