เราเป็นซึมเศร้าหรือเราแค่เครียดกันนะ
ในสภาวะที่เราต้องเผชิญเรื่องกดดันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อน นอนไม่หลับ เงินไม่พอใช้ แฟนไม่รับโทรศัทพ์ และอีกบลาๆ จนเกิดอาการเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อยู่ไม่เป็นสุข จนมานึกสงสัยว่า เอ๊ะ! นี่เราเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้าไปแล้วเนี้ย หากคุณผู้อ่านกำลังอยู่ในช่วงสับสนปนเครียดซับซ้อนกับเรื่องราวเช่นที่กล่าวมา มาค่ะ ในบทความนี่มีคำตอบ.... เราจะสังเกตตัวเองอย่างไรว่าเราแค่เครียด หรือกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่กันแน่
วิธีสังเกตว่าคุณกำลัง “เครียด”
ต้องขอบอกก่อนเลยค่ะว่า “ความเครียด” สามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา แถมเกิดได้หลายสาเหตุตามที่เกริ่นไปข้างต้น ตามหลักสุขภาพสากลแล้ว “ความเครียด” มีด้วยกัน 2 แบบค่ะ
1. Acute Stress หรือความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและร่างกายก็ตอบสนองต่อความเครียดนั้นทันที
โดยมีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เมื่อความเครียดหายไป ร่างกายก็จะกลับสู่ปกติเหมือนเดิม ฮอร์โมนก็จะกลับสู่ปกติ ความเครียดประเภทนี้ เช่น เครียดเพราะงานเร่ง แต่พอทำงานเสร็จความเครียดก็หายไป เป็นต้น ความเครียดประเภทนี้ถึงจะไม่ส่งผลดีต่อความรู้สึก แต่ส่งผลดีต่อสุขภาพค่ะ เพราะร่างกายได้รับการกระตุ้น มีการหลังสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) ให้กล้ามเนื้อได้ตื่นตัว
2. Chronic Stress หรือความเครียดเรื้อรัง
เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทุกวัน และร่างกายไม่สามารถตอบสนองหรือแสดงออกต่อความเครียดนั้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้าความเครียดนั้นก็จะสะสมเป็นความเครียดเรื้อรัง เช่น คนที่ต้องอยู่ในภาวะกดดันเป็นเวลานานนับเดือน คุณแม่ลูกอ่อนที่อดหลับอดนอนเลี้ยงลูก คนที่ตกงานและยังหางานใหม่ไม่ได้ คุ่รักที่ทะเลาะกันรุนแรงทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งความเครียดประเภทหลังนี่เองที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว แน่นท้อง มือเท้าเย็น และหากยังไม่สามารถจัดการความเครียดเรื้อรังได้ ก็จะทำให้กลายเป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า (Major Depressive) โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder ; OCD) โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) เป็นต้น
สำหรับคุณผู้อ่านที่สงสัยว่ากำลังอยู่ในภาวะ “เครียด” หรือไม่ สามารถสังเกตอาการได้ตามนี้ค่ะ
1.อาการแสดงออกทางร่างกาย คือ มึนงง ปวดกล้ามเนื้อ กัดฟัน ปวดศีรษะ แน่นท้อง เบื่ออาหาร นอนหลับยาก หัวใจเต้นเร็ว หูอื้อ มือเย็น อ่อนเพลีย ท้องร่วง ท้องผูก จุกท้อง มึนงง เสียงดังในหู คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง
2.อาการแสดงออกทางด้านจิตใจ คือ กังวลไปทุกสิ่ง ตัดสินใจไม่ดี ขี้ลืม สมาธิสั้น ไม่มีความคิดริเริ่ม ความจำไม่ดี ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้
3.อาการแสดงออกทางด้านอารมณ์ คือ โกรธง่าย วิตกกังวล ร้องไห้ ซึมเศร้า ท้อแท้ หงุดหงิด ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย นอนไม่หลับ กัดเล็บหรือดึงผมตัวเอง
4.อาการแสดงทางพฤติกรรม คือ รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง แยกตัวจากผู้อื่น อ่อนแรง ไม่อยากจะทำอะไร มีปัญหาเรื่องการนอน ไม่มีความสุขกับชีวิต
และหากคุณผู้อ่านต้องการประเมินตนเองแบบจริงจัง สามารถทำแบบประเมินความเครียดด้วยตนเองได้ที่ แบบประเมินความเครียดมาตรฐาน ของกรมสุขภาพจิต ที่จะมีคำแนะนำให้แก่คุณผู้อ่านเมื่อประเมินเสร็จด้วยค่ะ
วิธีสังเกตว่าคุณกำลังเป็น “โรคซึมเศร้า”
ทีนี้มาถึง “โรคซึมเศร้า” กันบ้าง สำหรับรายละเอียดของโรคซึมเศร้านั้นได้มีผู้เชี่ยวชาญพูดถึงมาเยอะมากๆ แล้ว ซึ่งใน iStrong ก็มีบทความดีๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอยู่เยอะพอสมควรเลยค่ะ เช่น เช็ค 25 อาการเสี่ยงโรคซึมเศร้า ก้าวออกจากโรคซึมเศร้าเริ่มได้ที่ตัวเราเอง และ 7 วิธีบำบัดใจเพื่อป้องกันโรคซึมเศร้า หากคุณผู้อ่านสนใจก็สามารถคลิกเข้าไปอ่านกันได้เลย
เพราะฉะนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงขอไปที่ข้อสังเกตสำคัญของอาการ “โรคซึมเศร้า” เลยแล้วกันนะคะ หากคุณผู้อ่านกำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังเป็น “โรคซึมเศร้า” หรือไม่นั้น สามารถสังเกตตัวเองได้ตามนี้เลยค่ะ
1.มีอารมณ์ซึมเศร้า เห็นอะไรก็หม่นหมอง ไม่มีความสุขเหมือนเคย หรือบางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ใครพูดอะไรก็ไม่ถูกหู ไม่ถูกใจ ขวางหูขวางตาไปเสียหมด และที่สำคัญนะคะการควบคุมอารมณ์แย่ลงอย่างมาก
2.ขาดความสนใจ ความชอบในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำ จากที่เคยชอบอะไรบางอย่าง หรือทำอะไรบางอย่างได้นาน กลับกลายเป็นเบื่อ ไม่อยากทำ ไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะทำ หรือปิดกั้นตัวเองจากคนรอบข้าง อารมณ์แบบอยากอยู่เงียบๆคนเดียว
3.เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากขึ้น น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก อะไรที่เคยชอบก็ไม่ชอบ กินอะไรไม่ลง ไม่มีความอยากอาหาร หรือในบางคนกลับกินหนักกว่าเดิม ยิ่งมีอะไรมากระทบความรู้สึกยิ่งกิน ยิ่งรู้สึกแย่ยิ่งกิน
4.นอนไม่หลับ หรือนอนนานกว่าปกติ อาการนี้เป็นผลมาจากการหลั่งสารเซโรโทนิน (serotonin) ในสมองผิดปกติ ซึ่งสารตัวนี้จะควบคุมการนอนค่ะ ดังนั้นคนที่ป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” จึงมีการนอนที่ผิดปกติ คือ ไม่นอนหลับข้ามวันข้ามคืนไปเลย ก็ไม่นอนเลย แต่การไม่นอนสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ใช่ตาตื่นเพราะความตื่นเต้นนะคะ แต่เป็นการคิดมากจนไม่หลับไม่นอน ร้องไห้จนนอนไม่ได้
5.เคลื่อนไหวหรือพูดจาช้ากว่าปกติ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยตลอดเวลา ทำอะไรก็ไม่มีแรง นอนนานแค่ไหนก็รู้สึกไม่สดชื่น เพลียตลอดเวลา
6.มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โดดเดี่ยว และมีความรู้สึกผิด มักโทษตัวเองอยู่เสมอ มีความคิดวนเวียนอยู่แต่กับความผิดพลาดของตัวเอง แม้จะผิดเรื่องเล็กน้อยแต่ขยายให้เป็นเรื่องใหญ่ได้
7.ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง และขาดการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ตาม
8.รอบเดือนผิดปกติ มีความสนใจเรื่องเพศลดลงหรือมากขึ้น คือ ถ้าไม่ด้านชาไปเลย ก็หมกหมุ่นไปเลย
9.เจ็บปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการป่วยแบบหาสาเหตุไม่ได้ และมักจะตามมาด้วยการช็อปปิ้งหมอ คือ ตรวจไปเลย เจ็บตรงไหน ปวดตรงไหนก็ไปตรวจตรงนั้น แล้วก็หาสาเหตุไม่ได้ แต่ก็ยังคงกังวลกับอาการป่วยอยู่ตลอดเวลา
10.มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง
หากคุณผู้อ่านมีอาการ 5 ใน 10 ข้อข้างต้น ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และเป็นอยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวันขอให้คุณผู้อ่านพบผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตโดยด่วนเลยค่ะ หรือหากให้ชัดเจนกว่านั้น คุณผู้อ่านสามารถประเมินโรคซึมเศร้าด้วยตนเองได้ที่ http://www.prdmh.com ค่ะ
มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงพอจะแยกออกแล้วใช่ไหมคะว่า “ความเครียด” กับ “โรคซึมเศร้า” แตกต่างกันอย่างไร และหากคุณผู้อ่านสนใจเรื่องบทความเกี่ยวกับความเครียด สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “สุขภาพดีขึ้นได้เมื่อรู้ทันความเครียด” แต่หากคุณผู้อ่านเริ่มรู้สึกเครียดหรือรู้สึกแย่จนแบบ “ไม่ไหวแล้ววุ้ย” สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาที่ให้บริการคุณผู้อ่านในเกรดพรีเมียมที่ iStrong ได้เสมอนะคะ หรืออีกหนึ่งช่องทางสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 (ฟรี)ค่ะ
ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
1. โรงพยาบาลวิภาวดี. โรคเครียด. https://www.vibhavadi.com/health316
2. https://www.manulife.co.th/ten-signs-and-symptoms-of-depression/
3. กรมสุขภาพจิต. แบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม. http://www.prdmh.com
4. กรมสุขภาพจิต. แบบประเมินความเครียด (ST5). https://www.dmh.go.th/test/qtest5/
Comentários