โดนแกล้งตั้งแต่เด็ก จะมีผลอย่างไรกับการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
ในชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นของพวกเราทุกคน ย่อมเคยผ่านประสบการณ์ทั้งเป็นผู้แกล้ง และผู้โดนแกล้งกันใช่ไหมคะ อันนี้ยังไม่นับรวมถึงการกลั่นแกล้งทางหน้าที่การงานนะคะ พูดถึงแต่เฉพาะการแกล้งเอามันส์ การแกล้งเพื่อความบันเทิงล้วน ๆ ซึ่งคนโดนแกล้งไม่ได้สนุกด้วยเลย แต่นั่นหล่ะค่ะ คนดวงปกติอย่างเราก็จะมีอัตราการแกล้งและโดนแกล้งที่พอ ๆ กัน ในระดับเบา ๆ พอให้เป็นสีสันของชีวิต แต่กับบางคนแล้ว ต้องเรียกว่าถ้าไม่โชคร้ายก็ดวงเรียกเท้า คือ เป็นเป้าของการถูกแกล้งของคนรุ่นเดียวกัน (ถ้าจะแกล้งกันหนักขนาดนี้อย่าเรียกว่า “เพื่อน” เลย) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่อยากให้ลูกตัวเองไปแกล้งใคร สามารถอ่านบทความจิตวิทยาเพิ่มเติมได้ที่ "อย่าปล่อยให้ลูกเสพติดความรุนแรง" และ "5 เคล็ดไม่ลับปรับพฤติกรรมเด็กไม่ให้แกล้งเพื่อน" ได้นะคะ
กลับมาพูดถึงการโดนแกล้ง สถานการณ์ตอนนี้ต้องบอกเลยค่ะว่าหนักหนาและรุนแรงน่าดู สำหรับสถิติการแกล้งกันในโรงเรียนของประเทศไทยเมื่อปี 2561 พบว่าไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว โดยช่วงอายุที่โดนแกล้งมากและรุนแรงที่สุดคือช่วง 13 – 18 ปี ซึ่งเด็กที่ถูกแกล้งก็จะโดนสารพัดวิธีทั้งแกล้งต่อหน้า ลอบทำร้าย และ Cyber Bullying โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับบุคลิกของเด็กที่ถูกแกล้งและ
วิธีการรับมือกับการโดนแกล้ง
จากประสบการณ์การเป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน 2 ปี และเป็นนักจิตวิทยาเด็กอีก 2 ปี ทำให้มองเห็นว่าเด็กที่มักจะโดนแกล้ง มีด้วยกัน 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามบุคลิกและการรับมือของเขาค่ะ ก็คือ
1.กลุ่ม Strong เด็กสายแข็ง
แกล้งมาแกล้งกลับไม่โกง แถมเอาคืนหนักกว่าเดิมอีก เด็กพวกนี้มองว่าเรื่องโดนแกล้งเป็นเรื่องน่ารำคาญ ดังนั้นวิธีรับมือคือกำจัดตัวน่ารำคาญทิ้ง เพราะฉะนั้นเด็กขี้แกล้งคนไหนหลงมาแกล้งเด็กสายแข็ง ก็จะแกล้งครั้งเดียวพอแล้วจ้า ไม่ทำแล้วจ้า
2.กลุ่ม Don’t care world
จะเป็นเด็กที่มีโลกส่วนตัวสูง ไม่สนใจเรื่องการถูกแกล้ง จริง ๆ แล้วอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าโดนแกล้งอยู่ เพราะฉะนั้นเด็กขี้แกล้งจะไม่แกล้งเด็กกลุ่มนี้ซ้ำเพราะไม่สนุก ไม่มีการตอบรับ (respond) กลับมา
3.กลุ่ม Loser กลุ่มเด็กไม่สู้คน
เป็นกลุ่มยอดนิยมต่อการโดนแกล้ง เพราะพอแกล้งแล้วจะมีปฏิกิริยาตอบสนองทันที ทั้งร้องไห้ โวยวาย แล้วพอวันหนึ่งเด็กกลุ่มนี้ลุกขึ้นสู้จะยิ่งถูกแกล้งรุนแรงมากขึ้นไปอีก ซึ่งเด็กพวกนี้มักจะมีจุดเด่นที่ให้เพื่อนได้ล้อ ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตา ทรงผม การแต่งตัว ฐานะ รวมไปถึงผลการเรียนด้วย สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ เด็กกลุ่มนี้เขากลัวการโดนแกล้งจับใจเลยค่ะ เพราะไม่มีทางสู้ ไม่มีทางหนี ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร อยู่ในภาวะสิ้นหวัง (Hopeless)
หากคุณผู้อ่านอยากช่วยเหลือเด็ก ๆ กลุ่มนี้ ผู้เขียนก็ได้เขียนไว้ในบทความจิตวิทยาเรื่อง สอนลูกให้รับมือกับการถูกแกล้งได้อย่างไร? และ วิธีสร้างความมั่นใจให้ลูกรักของคุณ
สำหรับผลของการถูกแกล้งนั้น ต้องบอกเลยว่ามันไม่ได้อยู่แค่ชั่วคราว แต่มันกัดกินจิตใจของคนถูกแกล้งยาวไปตลอดชีวิตเลยค่ะ จากผลงานวิจัยของคุณครูกรกช ไชยวงค์ ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เรื่องการกลั่นแกล้งในชั้นเรียน ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ซึ่งครูกรกชได้ทำการศึกษาในเด็กนักเรียนชั้น ม. 1 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ ได้รับผลกระทบด้านจิตใจมากที่สุด แล้วยังมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ เพราะทำให้เด็กเหล่านี้มีความวิตกกังวลสูง ไม่อยากมาโรงเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียน ซึ่งไปสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันสถิติศาสตร์ (UIS) ของ UNESCO ที่บอกว่าเด็ก ๆ ที่โดนแกล้งส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกไร้ค่า และมากกว่าครึ่งต้องลาออกจากโรงเรียน ทำให้เสียโอกาสทางการเรียนรู้
นอกจากนี้แล้วคุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ จิตแพทย์ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า เด็กที่โดนแกล้งอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีแนวโน้มสูงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า และนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งตรงกับผลงานวิจัยระยะยาวของมหาวิทยาลัย Duke ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1993 ในการตามติดชีวิตเด็ก 1,420 คน ในรัฐนอร์ทเเคโรไลน่า สหรัฐอเมริการ เป็นเวลา 20 ปี พบว่า เด็กที่โดนแกล้งบ่อย ๆ และรุนแรง เมื่อโตจะมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้ามากกว่า 50% และในจำนวนนั้นมีแนวโน้มสูงว่าจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาการถูกแกล้ง
มาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงพอมองเห็นภาพกันนะคะว่าการแกล้งกันนั้นมีผลร้ายแรงขนาดไหน ซึ่งหากอธิบายให้เห็นภาพมากกว่านั้นก็คงต้องอ้างอิงถึงภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่พูดถึงการได้รับผลกระทบและการรับมือกับการถูกแกล้ง ไม่ว่าจะเป็น Carrie ฉบับ ค.ศ. 1974 หนังคลาสสิคจากนวนิยายสยองขวัญ ของ Stephen King ที่พูดถึงเด็กสาวเงียบ ๆ ชอบอยู่คนเดียว และโตมากับแม่ที่เคร่งศาสนามาก และด้วยคุณสมบัติที่ว่ามาเธอเลยโดนแกล้งเป็นประจำ ถูกเพื่อรุมปาผ้าอนามัยใส่ในวันที่ประจำเดือนมาครั้งแรก และที่รุนแรงสุดคือถูกราดด้วยเลือดหมูกลางเวทีประกาศดาวโรงเรียน ถ้าไม่นับเรื่องเธอมีพลังจิต เธอจะเป็นคนที่น่าสงสารมากเพราะไม่มีทางสู้เลย แต่เธอมีพลังจิต เลยเป็นความโชคร้ายของคนที่แกล้งเธอไป เรื่องนี้จบไม่สวยค่ะบอกได้เลย
เรื่องต่อมาเป็นหนังใหม่จะเข้าปีนี้ (2562) ว่าด้วยโลกคู่ขนานของซุปเปอร์แมน ที่มีแนวคิด (Concept) ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าซุปเปอร์แมนไม่ใช่คนดี” เรื่องก็เล่าเหมือนซุปเปอร์แมนทุกประการค่ะ มีเด็กต่างดาวหล่นมาจากฟ้าลงฟาร์มบ้านหลังหนึ่ง มีคุณแม่ใจดี (แต่พ่อดูไม่ค่อยเต็มใจรับเลี้ยงเท่าไหร่) ดูแล แต่พอถึงวัยไปโรงเรียนเด็กถูกแกล้ง โดนป้าที่ร้านอาหารดูถูก ประกอบกับเด็กค้นพบว่าตัวเองมีพลังพิเศษ เลยล้างแค้นเละเทะจบไม่สวยเช่นเดียวกัน
หรือหนังไทยอย่างเรื่องเฉือน หนังดีที่สุดของเป้ อารักษ์ ที่หน้าหนังว่าด้วยการสืบหาฆาตรกร แต่เนื้อหนังเล่าถึงความเป็นมา ปมในใจ และการล้ามแค้นของฆาตรกร ที่จบไม่สวยเช่นเดียวกันค่ะ แค่สามเรื่องที่ยกมานี้ คุณผู้อ่าคงพอมองเห็นจุดร่วมของการเอาคืนของเด็กที่ถูกแกล้งนะคะว่า “จบไม่สวย” เรื่องจริงก็เช่นเดียวกันค่ะ ทั้งการถือปืนไปยิงเพื่อนที่โรงเรียน การสังหารหมู่ในโรงเรียน หรือการฆ่าตัวตายหมู่ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาของเด็กที่โดนแกล้งล้วนจบไม่สวยทั้งสิ้น ดังนั้นแล้ว วิธีแก้ที่ดีที่สุด ก็คือ “การเลิกแกล้ง” ซึ่ง iStrong ของเราก็มีบทความจิตวิทยาดังที่กล่าวมาและอีกมากมาย ที่เป็นแนวทางให้คุณผู้อ่านได้ศึกษา หรือจะโทรมาปรึกษากับนักจิตวิทยาของเราก็ได้เช่นกันนะคะ ยินดีให้คำปรึกษาทุกท่านเสมอค่ะ
iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
1. กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท. 24 สิงหาคม 2561.ความรุนแรงในสถานศึกษา : การกลั่นแกล้ง (Bullying). (Online). สืบค้นจาก https://elsiam.org/bully-in-school/
2. กรกช ไชยวงค์. 2559. การกลั่นแกล้งในชั้นเรียน ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้. (Online). สืบค้นจาก https://academic.prc.ac.th/TeacherResearch/ResearchDetail.php?ID=1905
3. คมปทิต สกุลหวง. 3 ตุลาคม 2561. ผลวิจัย UNESCO ชี้ เด็ก 1 ใน 3 ของโลกถูก Bully หวั่นส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้. (Online). สืบค้นจาก https://thestandard.co/one-third-of-teens-worldwide-suffers-bullying-unesco/
4. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์. มปป. การกลั่นแกล้ง สาเหตุการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น. Infographic งานประชาสัมพันธ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์.
5. voathai. 18 มิถุนายน 2557. ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าผลกระทบจากการถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็กมีผลกระทบทางด้านจิตใจและร่างกายในระยะยาว. (Online). สืบค้นจาก https://www.voathai.com/a/bullying/1939295.html
댓글