5 วิธีอยู่ร่วมกับคนคิดต่าง ในสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง
ด้วยกระแสทางการเมืองที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะที่เราๆ จะได้เห็น การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจนนำไปสู่การกระทบกัน ตั้งแต่ Comment ใน Facebook จนลามไปถึงการทะเลาะกันในครอบครัว และก็คงไม่แปลกใจอีกเช่นกันที่เราจะได้เห็นข่าวประมาณว่า คนในบ้านทะเลาะกันรุนแรงถึงขั้นลงมือทำร้ายกัน หรือคนที่ไม่รู้จักกันแต่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันทำร้ายกัน แต่ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่อง “แปลก” ก็คือ การที่เรามองว่าเรื่องราวความขัดแย้งเล็กๆ ไปจนถึงใหญ่ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ
คุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมคะว่าเพราะอะไร เราถึงชินชากับเรื่องราวเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ความขัดแย้งข้างต้นเคยนำความวุ่นวายมาสู่ชีวิตเรานับครั้งไม่ถ้วน นั่นอาจจะเป็นเพราะเราเจอเรื่องราวเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ จนชินกับมันไปเสียแล้ว หากอ้างอิงตามบทความของอาจารย์พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เขียนบทความเกี่ยวกับควาขัดแย้งทางการเมืองของไทยได้อย่างน่าสนใจก็คือ การแบ่งขั้วแยกข้างทางการเมืองเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมา
ความขัดแย้งทางการเมืองในไทยมีหลายระดับ เช่น การแสดงออกผ่านการถกเถียงในระบบรัฐสภา การชุมนุมทางการเมือง และลุกลามเป็นการก่อความไม่สงบ เกิดความรุนแรงทางการเมือง รวมถึงการรัฐประหาร ทั้งนี้ความขัดแย้งเรื่องการแบ่งข้างทางการเมืองของคนไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 ยาวนานจนมาถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะ “ปรองดอง” กันได้
คำถามสำคัญต่อมา คือ “เพราะอะไรเราจึงไม่สามารถปรองดองกันได้?” จะตอบคำถามนี้ได้ เราก็ต้องมาทำความเข้าใจเรื่อง “ความแตกต่างระหว่างบุคคล” เสียก่อน ซึ่งเรื่องความแตกต่างนี้มีการศึกษามานานมากๆ แล้วละค่ะ ตั้งแต่สมัยเพลโต้ (Plato) (427 – 347 ก่อนคริสต์ศักราช) นู้นเลย โดยเพลโตได้เขียนหนังสือชื่อ The Republic เนื้อหาสำคัญมีอยู่ว่า ไม่มีบุคคลสองคนที่เกิดมาเหมือนกันไปเสียทุกอย่าง ต่อมาในศตวรรษที่สิบเก้า เซอร์ ฟรานซิส กาลตัน (Sir Francis Galton) ได้ทำการศึกษากรรมพันธุ์ ก็ได้สรุปว่า สติปัญญาของแต่ละคนขึ้นอยู่กับพันธุกรรมซึ่งมีความแตกต่างกัน ต่อมาอีกนิดในศตวรรษที่ยี่สิบ เจมส์ แมคคีน แคทเทลล์ (James Mckeen Cattall) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้วัดความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยใช้แบบทดสอบการปฏิบัติงาน (Performance Test) ก็พบว่าแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน รวมไปถึงผลการศึกษาของแอสเฟรด บิเน่ท์ (Alferd binet) เจ้าของแบบวัดเชาวน์ปัญญาที่นักจิตวิทยาเด็กและนักจิตวิทยาพัฒนาการบ้านเรานิยมใช้บริการ ก็ยืนยันว่าบุคลิกภาพ และสติปัญญาของแต่ละบุคคลว่ามีความแตกต่างกัน
ซึ่งปัญหามันมาเกิดตรงนี้นี่แหละค่ะคุณผู้อ่านค่ะ เมื่อเราต่างกัน แต่เรา “ไม่ยอมรับ” ความแตกต่างของกันและกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น มันจึงไปตอบคำถามที่ว่า “เพราะอะไรเราจึงไม่สามารถปรองดองกันได้?” แล้วถ้าถามต่อว่า “จะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกับคนคิดต่างอย่างไม่แตกแยก?” วันนี้ผู้เขียนมีคำตอบจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีมาฝากกันค่ะ จะมีวิธีอย่างไรบ้างนั้น ไปดูกันค่ะ
1.สังเกตทัศนคติของตนเองอยู่เสมอพยายามอย่าใช้ทัศนคติแบบเหมารวม อย่าไปตั้งแง่ว่าคนคิดต่างคือศัตรู
2.อย่าใช้คำพูดในเชิงดูถูก แขวะ แซะ กับบุคลลที่คิดต่าง คำพวกนี้เป็นวาทกรรมค่ะ เป็นคำพูดที่ยุให้เกิดอาการหัวร้อน ยุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และเสียเพื่อนได้อย่างง่ายๆ เลย
3.เรียนรู้จากความแตกต่างของเขา เปลี่ยนความหัวร้อนให้เป็นการใฝ่รู้ค่ะ ลองเปิดใจรับฟังมุมมองความคิด เราอาจได้เห็นโลกอีกใบที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อนก็เป็นได้
4.ให้เกียรติและยอมรับซึ่งกันและกันในครอบครัว ให้อิสระในการเลือก เคารพในการตัดสินใจ
5.เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบปะผู้คนที่หลากหลาย สังคมที่หลากหลาย เพื่อเรียนรู้ เข้าถึง เข้าใจในความแตกต่าง และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน
ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องทัศนคติ หากจะต่างกันก็ต่างเพียงทัศนคติ ต่างกันที่มุมมอง แต่อย่างไรแล้วเราๆ ที่เห็นต่างกันก็เพื่อนกัน ครอบครัวเดียวกัน คนในสังคมเดียวกัน อย่างไรเราก็ต้องอยู่ด้วยกันไปโดยประมาณเวลาไม่ได้ ดังนั้นแล้วการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่างก็เป็นทางออกที่ดีอีกทางค่ะ หากเราอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่แตกแยก เชื่อว่าครอบครัว สังคม ประเทศคงสงบสุขมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอนค่ะ
เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา
iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
1.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม. 13 มิถุนายน 2017. วิเคราะห์ระดับความขัดแย้งทางการเมืองไทยด้วย Big Data. ออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.the101.world/measuring-political-conflict/
2. สุธีรา เผ่าโภคสถิตย์. 2543. จิตวิทยาทั่วไป.พิมพ์ลักษณ์, กรุงเทพ : แม็ค.
3. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี. สอนลูกยอมรับความแตกต่าง. 26 ตุลาคม 2559. ออนไลน์. สืบค้นจาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/724041
Comments