3 เทคนิคค้นหางานที่รักด้วยตัวคุณเอง
คุณผู้อ่านคะ การที่เราได้ทำงานที่เรารักย่อมเป็นความสุขของชีวิต ข้อนี้คงเป็นจริงสำหรับทุกๆ คน อย่างที่ขงจื๊อได้กล่าวไว้ว่า “เลือกงานที่คุณรัก แล้วชีวิตนี้คุณจะไม่ต้องทำงานเลยสักวัน” นั่นหมายความว่า หากคุณได้ทำงานที่ใช่ ทำงานที่คุณมีความสุข คุณจะรู้สึกว่า ในทุกวันที่มาทำงาน คือการสร้างความสุขให้กับตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น...มีผู้โชคดีสักกี่คนกันคะที่ได้ทำงานที่เขารัก ทำงานที่รู้สึกตื่นเต้นกับทุกวันของการทำงาน เพราะเท่าที่เห็นส่วนใหญ่ รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย ก็ยังรู้สึกเบื่อกับการ “สวัสดีวันจันทร์” และเฝ้ารอว่าเมื่อไรจะถึงวันศุกร์ และเมื่อถึงวันสุดท้ายของวันหยุดก็จะมานั่งเซ็งว่า วันหยุดผ่านไปไวจริง
ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ยกมาข้างต้น จึงทำให้ผู้เขียนลองไปค้นหาข้อมูลว่า ทำอย่างไรนะเราถึงจะสามารถตามหางานที่เรารักได้ ที่ไม่ใช่วิธีที่มีคนแนะนำมาเยอะแยะแต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยสักเท่าไร อย่างคำกล่าวที่ว่า “ถ้าทำงานที่รักไม่ได้ ก็รักงานที่ทำเสีย” ซึ่งคนมันไม่รัก ทำอย่างไรก็คงไม่รักหรอกจริงไหมคะ ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะขอนำ ถ้อยความช่วงหนึ่งของการบรรยาย ของ Scott Dinsmore นักเขียนผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงาน โดย Dinsmore ได้แนะนำ 3 วิธีในการตามหางานที่รัก โดยทั้ง 3 วิธี มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
วิธีที่ 1 การเป็นผู้รู้จักตัวเองและเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราไม่รู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เราก็คงไม่สามารถตามหาสิ่งที่เราต้องการได้เจอ และเมื่อเราเองที่เป็นเจ้าของชีวิตเราเองยังไม่รู้ว่าต้องการอะไร ก็คงไม่มีใครที่สามารถช่วยเราได้ ซึ่งในข้อนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนในสมัยที่เรากำลังเลือกคณะในระดับปริญญาตรี โดยคนที่ค้นพบตัวเองและรู้ตัวเองชัดเจนแล้วว่าตัวเองชอบทางไหน ต้องการทำอะไร ก็จะมีความแน่วแน่ในการเลือกคณะ เลือกสาขาที่ตัวเองต้องการ แต่สำหรับคนที่ยังงงๆ ว่าเราจะทำอะไรดีนะ ก็จะซิ่วไปเรื่อยๆ เข้าคณะนี้ ออกมหาวิทยาลัยนู้น ประมาณว่าเป็นเฟรชชี่ตลอดเวลาเพื่อค้นหาตัวเอง บางคนโชคดีค้นหาตัวเองพบก็แค่เสียเวลา แต่บางคนก็จะมีความรู้สึกท้อและเลิกเรียนไปเลยก็มี ซึ่งนั่นคือนำอนาคตของเขาไปแลกกับการค้นหาตัวเองที่ไม่ได้ค้นพบอะไรเลย
วิธีที่ 2 การค้นหาความเก่งของตัวเอง
เมื่อเรารู้จักตัวเราเองแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเราต้องค้นหาว่าอะไรคือความแข็งแกร่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา อะไรที่เราเก่ง อะไรที่เราถนัด อะไรที่เราทำได้ดีที่สุด อย่างที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เคยเขียนกลอนไว้ว่า
“อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์ ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี”
กลอนบทนี้มีความหมายว่า หากเรารู้ว่าเราชอบอะไรและมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาในทางที่เราชอบจนเชี่ยวชาญ เราก็สามารถสร้างมูลค่าจากความรู้ของเราได้ ซึ่งตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จจากวิธีการนี้ ก็คือ George Lucas ผู้กำกับ Stars Wars ผู้มุ่งมั่นทำงานที่รักจนได้ดิบได้ดีนั่นเอง
วิธีที่ 3 สั่งสมประสบการณ์
วิธีนี้ Dinsmore แนะนำว่า ถ้าเราต้องการพิสูจน์ว่า เรารักสิ่งนั้นจริงไหม งานนั้นคือสิ่งที่เราต้องการจริงหรือไม่ เราก็ต้องลงไปสัมผัส หาโอกาสสร้างประสบการณ์กับสิ่งเหล่านั้น เพื่อไปสัมผัสจริงๆ ว่า งาน กิจกรรม หรือสิ่งนั้นคือสิ่งที่เรารักอย่างแท้จริงหรือไม่ โดยวิธีการก็คือ การฝึกงาน การเข้าร่วมอบรมสัมมนา การเข้า Workshop เพราะถ้าการมีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้ จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า เราชอบสิ่งเหล่านี้จริงๆ เราก็สามารถทุ่มเทให้งานนั้นเต็มร้อยได้เลย
วิธีทั้ง 3 วิธีที่แนะนำมานั้น อาจฟังดูเหมือนว่าเหมาะสำหรับเด็กมัธยมปลายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย หรือเหมาะสำหรับเด็กจบใหม่ที่กำลังหางานทำ แต่สำหรับมุมมองของผู้เขียนแล้ว คิดว่าวิธีทั้ง 3 ยังเหมาะสำหรับคนทุกวัยค่ะ เพราะไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ขอเป็นกำลังใจในการออกไปค้นหา เพื่อค้นพบตัวตนของคุณผู้อ่านนะคะ
เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา
iStrong บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า
Contact : https://www.istrong.co/service
อ้างอิง :
https://www.ted.com/talks/scott_dinsmore_how_to_find_work_you_love/transcript__
Comments